ADS


Breaking News

“เพราะจิตอาสา..ไม่ใช่แค่ทักษะชีวิต” มูลนิธิสยามกัมมาจล

“อาสาสมัครกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ย่อมไม่ใช่โจทย์ของการใช้ทรัพยากรร่วมกันของมนุษย์บนโลกที่มีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องตระหนักถึง ภายใต้จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทุกวัน จึงเป็นประเด็นที่สะท้อนถึงการนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตามกรอบแนวทางขององค์การสหประชาชาติ ที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนาโดยอาศัยกรอบความคิดที่มองการพัฒนาในด้านต่างๆให้เป็นมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีความเชื่อมโยงกัน   
นางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม จังหวัดสงขลา นายอภิศักดิ์ ทัศนี และน.ส.เพรชเซิซ เอเบเล อีเลชุคกู ตัวแทนกลุ่มเยาวชน Beach For Life หนึ่งในโครงพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา นายอภิสิทธิ์ ลัมยศ ผู้ช่วยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนวัดโป่งคำ จังหวัดน่าน และ ดร.ฐิติมา เวชพงศ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จากโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ร่วมเสวนาถึงเส้นทางการสร้างพลังเยาวชนกับการทำงาน Active citizen ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้โจทย์การดำเนินการโครงการของเด็กและเยาวชน ด้วยการออกแบบ “สร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม” ระหว่างกลุ่มแกนนำเด็กและเยาวชน ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน และพี่เลี้ยงหรือโคช การเสริมทักษะชีวิตและแรงบันดาลใจในการทำงาน การให้เยาวชนลงมือทำปฏิบัติการจริงบนฐานความรู้ ซึ่งนำไปสู่การถอดบทเรียน และสุดท้ายคือการสื่อสารต่อสังคม
นางพรรณิภา กล่าวว่า การทำงาน Active citizen เน้นพลังของเด็กและเยาวชนในช่วงวัยรุ่นที่อายุระหว่าง 14-24 ปี เพราะเชื่อว่าพลังเล็กๆ เหล่านี้สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้ภาคพลเมืองอื่นๆ ให้มีความตื่นตัวในการทำงานเพื่อชุมชนของตัวเองได้ เพราะในอนาคตย่างก้าวต่อไปของเยาวชนเหล่านี้คือความเป็นพลเมืองนั่นเอง โจทย์ในพื้นที่จังหวัดสงขลา นอกจากเป็นศูนย์กลางของแหล่งธุรกิจแล้วที่นี่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติอย่างหาดทราย จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของกลุ่มเยาวชน Beach For Life ซึ่งได้หยิบยกประเด็นการติดตามกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพหาดสมิหลาทั้งระบบในชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของพลเมืองสงขลาในรูปแบบ Citizen Science หรือพลเมืองวิทยาศาสตร์ และสิ่งที่เยาวชนได้มาจากการทำโครงการคือการมีทักษะชีวิตในการเปิดพื้นที่ในการเปลี่ยนแปลงตัวเองและเปลี่ยนแปลงชุมชน 
ตัวแทนกลุ่มเยาวชน Beach For Life กล่าวถึงสาเหตุของการการหยิบประเด็นเกี่ยวกับหาดสมิหลาขึ้นมาทำโครงการ ว่า เพราะหาดสมิหลาคือพื้นที่แห่งความสุขของคนสงขลาที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา พบว่าชายหาดมีการพังทลายและเกิดการกัดเซาะกว่า 2 กิโลเมตร โดยมีตัวแปรมาจากโครงสร้างแข็งที่สร้างบนพื้นที่ชายหาด ทั้งกองหินทิ้ง กระสอบทราย การดักทราย เป็นต้น บวกกับคนไทยมีความรู้ในด้านองค์ประกอบและธรรมชาติของหาดทรายน้อยมาก ตลอดเวลาที่ผ่านมา จ.สงขลายังไม่เคยมีข้อมูลหรืองานวิจัยเกี่ยวกับหาดทรายทั้งระบบมาก่อนเลย ทำให้กลุ่ม Beach For Life เริ่มศึกษาเพื่อหาทางป้องกันและแก้ปัญหาจากโจทย์จริงที่มีในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการ เครือข่ายพลเมืองและอาสาสมัครคนสงขลา รวมทั้งการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมผ่านธรรมนูญชุมชนฉบับพิเศษ ว่าด้วยธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน โดยใช้ชายหาดเป็นห้องเรียน-ห้องทำงาน ซึ่งก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในสังคมให้หันมาประคับประคองเยียวยารักษาดูแลระบบนิเวศหาดทราย
เช่นเดียวกับ จังหวัดน่าน นายอภิสิทธิ์ สะท้อนแนวคิดว่า การเปิดพื้นที่ให้เยาวชนเข้ามาทำงานร่วมกันกับคนในชุมชน ต้องมีโจทย์มาจากชุมชน ปัจจุบัน จังหวัดน่านเกิดปรากฎการณ์การลดลงของทรัพยากร เช่น ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม ควมเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรรวมถึงสิทธิในพื้นที่ทำกิน เป็นต้น หากสามารถเชื่อมโยงปัญหาเหล่านี้ได้และมีการแก้ปัญหาร่วมกัน เชื่อว่าจะเกิดเครือข่ายในการจัดการระบบการทำงานระหว่างเยาวชนและคนในสังคมได้ดีขึ้น รวมทั้งมีการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้เยาวชนได้ปฏิบัติจริง เพราะเชื่อว่าเยาวชนมีศักยภาพอยู่แล้ว เพียงแต่ยังขาดพื้นที่ในการแสดงออกหรือการทำกิจกรรมร่วมกัน ภายใต้ฐานคิดของการตั้งคำถามชวนคิด ชวนคุย ชวนวิเคราะห์ชุมชนถึงความเป็นไปได้ในการทำโครงการจากโคชหรือพี่เลี้ยง เพื่อนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ในการทำงานเพราะความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ตัวกระบวนการเพียงอย่างเดียว แต่โคชเองต้องมีการสร้างสำนึกการรักชุมชนและสำนึกความเป็นพลเมืองให้แก่ตัวเด็กด้วย
ส่วน ดร.ฐิติมา ระบุว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยนอกจากการให้องค์ความรู้แล้วนั่นคือ การมีบทบาทในฐานะพี่เลี้ยง เมื่อเห็นชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง ที่ผ่านมามีหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยอย่างหลักสูตรการจัดการชุมชน แต่บทบาทกลับไม่ได้ไปจัดการชุมชน ดังนั้นเมื่อมีโครงการ Active citizen เข้ามาโครงการนี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งที่มาเติมเต็มหลักสูตรดังกล่าวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
     อย่างไรก็ตาม เส้นทางการทำงานของเยาวชนจากโครงการ Active citizen ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา กับการสร้างพลังเยาวชนที่ทำงานผ่านโจทย์ปัญหาของชุมชนในมุมมองของตัวเยาวชนเอง ไม่ใช่แค่การทำงานเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพียงอย่างเดียว แต่ Active citizen ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างจิตสำนึกพลเมืองให้หยั่งลึกไปในตัวเยาวชน ด้วยวิถีชุมชนและอัตลักษณ์ของชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ และแม้ว่าเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับประชาคม แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน โดยเฉพาะความเข้าใจในการบูรณาการเรื่องความยั่งยืนในสังคมไทย ที่แม้ว่าจะตื่นตัวในเรื่องของการให้ แต่สิ่งคัญคือ “การให้” ในที่นี้ต้องสร้างความยั่งยืนแก่ผู้รับประโยชน์ด้วย เพื่อให้สามารถเติบโตและอยู่ได้ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันผู้ให้ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นด้วย จะทำให้งานอาสาสมัครในประเทศมีทรัพยากรและสามารถขยายผลสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้