“อ่าวทุ่งนุ้ย” สร้างชีวิต - มูลนิธิสยามกัมมาจล
เสียงเด็กกลุ่มหนึ่งดังขึ้นที่อ่าวทุ่งนุ้ย หอบอุปกรณ์จับปู เนื้อตัวเปื้อนไปด้วยโคลน สีหน้ามีความสุข เมื่อเข้าไปพูดคุย เด็กๆ เล่าเสียงเจื้อยแจ้ว ว่าว่างจากเรียนก็ชวนกันมาหาปูกันที่นี่ เมื่อเช้าเอาไปขายได้มา 300 บาท เอาไปให้แม่เรียบร้อยแล้ว พร้อมอธิบายวิธีการใส่เหยื่อด้วยปลาตัวเล็กๆ อย่างชำนาญ ก่อนจะเดินจากไปเพื่อวางอุปกรณ์ดักปู ทิ้งความสนใจอ่าวทุ่งนุ้ยไว้ให้เรา..ตามสืบต่อ
เมื่อได้พบกับ อารีย์ ติงหวัง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 14 บ้านหลอมปืน อ.ละงู จ.สตูล จึงเล่าให้ฟังถึงเด็กกลุ่มนี้ว่าเป็นเด็กในชุมชน ที่ตนเห็นว่ามาหาปูที่อ่าวนี้มาหลายปีแล้ว หลังจากที่อ่าวทุ่งนุ้ยกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง หลังปลูกป่าโกงกางมาเป็นเวลาถึง 10 ปี “ผลจากการบูรณาการร่วมกัน เช่น ป่าชายเลนสนับสนุนกิจกรรมเรื่องพันธ์กล้าไม้ ประมง สนับสนุนพันธุ์กุ้งหอยปูปลาเพื่อไปปล่อย อบต.หนุนกิจกรรมของชุมชน ผลที่ได้คือ 1.เราได้ป่า 2.ทรัพยากรที่เข้ามาพวก หอย ปู ปลา ส่งผลถึงรายได้ รายได้ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่นี่ มี 2-3 กลุ่ม เขาจะมาตกปูหารายได้จากอ่าวนี้เป็นประจำ ถ้าเรามองอีกเรื่องหนึ่ง คือภูมิปัญญาที่พ่อแม่ ถ่ายทอดให้เขา ในเรื่องการวางที่ดักปู ควรจะวางตรงไหน อย่างไร นี่คือการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับลูกหลาน ซึ่งตรงนี้ ระบบการศึกษาของเรายังไม่มี เป็นความรู้ที่พ่อแม่ถ่ายทอดให้ลูก แล้วลูกไปดักปูก็ได้มา มันตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจฐานราก คือเศรษฐกิจที่ได้กับคนฐานรากจริงๆ ถึงแม้เงินจะไม่มาก แต่เป็นเงินที่เด็กจะภาคภูมิใจในตนเอง ที่มีส่วนซื้อข้าวสารให้กับครอบครัว ซื้อขนมกินเอง ที่นี้ถ้ามองเศรษฐกิจพอเพียงที่ “ในหลวง” บอก “พึ่งตนเอง” ตรงนี้ไปตอบโจทย์พึ่งตนเองได้ เด็กชุดนี้มีจักรยาน เขาอยากได้อะไรไม่ต้องไปแบมือขอพ่อแม่ เขาต้องหาเอาเอง ไม่ใช่แค่กลุ่มเด็ก ยังมีชาวบ้านบางคนที่ใช้เรือเล็กเข้ามาหารายได้จากตรงนี้ แกบอกว่าวันๆ หนึ่ง ได้ประมาณ 500 บาท ”
อารีย์ เล่าต่อว่าทรัพยากรอ่าวทุ่งนุ้ยในวันนี้ ได้สร้างมูลค่ามหาศาล หากตีเป็นตัวเงิน ไม่น่าเชื่อว่า เฉพาะหอย (หอยแครง หอยคราง หอยแดง) เพียงอย่างเดียว ที่เก็บข้อมูลไว้ได้ปีหนึ่งมีรายได้ถึง 17 ล้านบาททีเดียว นอกจากนี้อาชีพที่กำลังเข้ามาในอ่าวคือ จับกุ้งด้วยมือ เริ่มมีปลาดุกทะเลเข้ามา มีหอยสองฝาชนิดใหม่อาศัยอยู่ตามรากต้นโกงกาง โลละประมาณ 20 บาท แมงดาทะเล ตัวหนึ่งราคา 120 บาท ขยันเก็บก็ได้เงินพออยู่พอกินแล้ว
ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว พ.ศ.2545 อารีย์เล่าว่าเริ่มปลูกป่าโกงกางต้นแรกเพียงลำพัง จนทุกคนขนานนามว่า “ผู้ใหญ่บ้า” ด้วยความไม่เข้าใจในเจตนา แต่เมื่อต้นโกงกางเริ่มเติบโต งอกงาม ชาวบ้านเริ่มมองเห็นความตั้งใจ ถึงวันนี้ พ.ศ.2559 อ่าวทุ่งนุ้ยกลายเป็นของทุกคน ถูกจัดการภายใต้โครงการเชื่อมร้อยกลุ่มองค์กรในชุมชนภายใต้สภาปืนใหญ่บ้านหลอมปืน ผ่านกลไกกลางที่ชื่อ “สภาชุมชน” ประกอบด้วยคนในชุมชนมาร่วมกันดูแล ภายใต้โครงการเสริมสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบพิบัติภัยสึนามิโดยความร่วมมือของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่นและมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในที่สุดพื้นที่อ่าวทุ่งนุ้ย กลายเป็นเขตพื้นที่ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรประมง ชุมชนบ้านหลอมปืน ครอบคลุมพื้นที่ 0.32 ตร.กม. ตามแผนการบริหารจัดการประมงชุมชนโครงการพัฒนาตามแผนแม่บทการจัดการประมงทะเลไทย โดยมีกติกาชุมชน 1.ละเว้นการใช้เครื่องมืดอวนล้อมจับน้ำตื้น,อวนทับตลิ่ง,อวนกระทุ้งน้ำ 2.ละเว้นการใช้เครื่องมืดคราด ทำการคราดหอย 3.ห้ามใช้เครื่องมือลอบปูที่มีขนาดช่องตาอวนโดยรอบเล็กว่า 2.5 นิ้วและ 4.ห้ามใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฏมายตาม พรก.การประมง พ.ศ.2558” (หมายเหตุ :จากเหตุการณ์สึนามิ ปี 2540 เรืออับปาง แหล่งหาอยู่หากินขาดแคลน ทำให้อาชีพประมงพื้นบ้านสูญหาย)