หมดกังวลเรื่องให้อาหารสุนัข ด้วยนวัตกรรม DOGMATE - มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
“DOGMATE” อุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้กับผู้เลี้ยงสุนัขผ่านการสั่งงานในแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนทั้งระบบแอนดรอยด์ (Android) และไอโอเอส (iOS) ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นส่งเสียงทักทายและกล้องเว็บแคม ผลงานน้องๆ โรงเรียนชลกันยานุกูล จังหวัดชลบุรี ที่จะเชื่อมคุณและน้องหมาแสนรักไม่ให้ห่างกัน
ในยุคที่การใช้ชีวิตนั้นเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะคนเมืองจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบอิสระมากขึ้น ทำให้สัตว์เลี้ยงกลายมาเป็นสิ่งเติมเต็มให้กับชีวิตของคนยุคใหม่ได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะสุนัข แต่ด้วยปัจจัยทางด้านเวลาที่คนเมืองต้องแข่งขัน รีบเร่งในการทำงาน ทำให้เวลาที่ต้องดูแลสัตว์เลี้ยงเหล่านี้มีน้อยเหลือเกิน
ถ้าหากมีอุปกรณ์ที่ตอบสนองผู้ที่ไม่มีเวลาในการเลี้ยงดูสุนัขให้สามารถให้อาหารสุนัขได้ในระยะไกลผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาจุดนี้ได้ นั่นคือแนวคิดของนางสาวอัฌมาภรณ์ รักการ, นางสาวอัญชญา ใจกล้า, นางสาวดุษฎี ศรีทองอ่อน, นางสาวอัญรินทร์ ณ ระนอง และนางสาวปัญญ์ชลี แตงเล็ก พร้อมด้วยอาจารย์วรรณวณา ปัญญาใส อาจารย์ที่ปรึกษา จากโรงเรียนชลกันยานุกูล จังหวัดชลบุรี ที่นำเสนอแนวคิดดังกล่าวเข้าร่วมโครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ที่ดำเนินโครงการโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) และได้รับการสนับสนุนโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
โดยผู้เลี้ยงสามารถกำหนดเวลาการให้อาหารเพื่อนที่น่ารักได้จากทุกจุดผ่านแอปพลิเคชัน “DOGMATE” บนสมาร์ทโฟน โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในบ้านเท่านั้น โดย “DOGMATE” จะทำงานผ่าน “NETPIE” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม IoT ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย NECTEC เพื่อเชื่อมต่อคำสั่งไปยังเครื่องให้อาหารสุนัขที่บ้าน โดยเครื่องให้อาหารจะปล่อยอาหารเม็ดออกมา 20 วินาทีต่อการกดปุ่มสั่ง 1 ครั้ง หรือสามารถกดหยุดก่อนได้ แต่ถ้าเจ้าของสุนัขรู้ว่าต้องเดินทางไปยังบริเวณที่ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ท “DOGMATE” ก็มีฟังก์ชันรองรับ ด้วยการตั้งเวลาล่วงหน้าจากตัวเครื่องให้อาหาร ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของเครื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ในระยะถัดไปน้องๆ ได้ตั้งเป้าพัฒนาให้เครื่องสามารถส่งการแจ้งเตือนไปยังแอปพลิเคชันในกรณีที่อาหารใกล้หมด รวมถึงเพิ่มระบบบันทึกภาพและเสียงบนแอปพลิเคชันและส่งต่อไปยังสุนัขที่บ้าน ซึ่งจะทำให้น้องหมาและเจ้าของรู้สึกใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น.// สถานะสิ่งประดิษฐ์ : อยู่ระหว่างดำเนินการขอรับความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา