ADS


Breaking News

คมนาคมยื่นมือแก้ไขปัญหากรณีสายเรือ Hanjin Shipping

     รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) และที่ปรึกษาคณะกรรมการและกรรมการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (นายไพบูลย์ พลสุวรรณา) ร่วมกับผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงาน ได้ประชุมหารือถึงกรณีปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการยื่นล้มละลายของสายเรือ Hanjin Shipping ต่อผู้นำเข้า-ผู้ส่งออกและผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศของไทย เมื่อวันพุธที่ 5 ตุลาคม 2559 ณ กระทรวงคมนาคม ถนนราชดำเนินนอก โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับบทบาทของกระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและการให้บริการของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง และประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ประกอบไปด้วย 
1. การขาดข้อมูลตู้สินค้านำเข้าและส่งออกที่ใช้บริการผ่านสายเรือ Hanjin Shipping ที่ชัดเจน ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถวางแผนและกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาได้อย่างชัดเจน ขณะที่ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศ ไม่สามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาในทางธุรกิจได้อย่างทันท่วงที เพราะไม่ทราบสถานะของสินค้าและวัตถุดิบระหว่างการขนส่งว่าจะเดินทางถึงเมื่อใด 
2. ผลกระทบจากการล้มละลายของสายเรือ Hanjin Shipping แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีการกำหนดกลไกดำเนินงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยต้องกำหนดให้มีหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบในการกำหนดมาตรการหรือแนวทางปฏิบัติเพื่อรับมือเหตุการณ์ในลักษณะนี้ เพื่อให้สามารถประสานงานและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ 
3. ความเสียหายต่อผู้ใช้บริการและผู้ส่งสินค้าเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งความเสียหายต่อตัวสินค้า และความเสียหายต่อกระบวนการทางธุรกิจในซัพพลายเชน และสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการรับผิดชอบของผู้ให้บริการขนส่งสินค้า ซึ่งจำเป็นต้องมีการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ด้านการเงินสำหรับการเข้าประกอบการ ตลอดจนการดำเนินการอื่นใด เพื่อให้มีหลักประกันสำหรับผู้ใช้บริการในการได้รับชดเชยเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น 
4. ในปัจจุบันพบว่ามีผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศบางรายแจ้งให้ผู้ใช้บริการติดต่อกับทางสายเรือ Hanjin Shipping เพื่อติดตามสถานการณ์และเรียกร้องค่าใช้จ่ายจากความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการปฏิเสธหน้าที่ตามความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการขนส่งตามสัญญารับขนหรือที่เรียกว่าใบตราส่ง (Bill of Lading: B/L) และบทบาทในการแก้ไขปัญหาของผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกระทรวงคมนาคมจำเป็นต้องเน้นย้ำบทบาทและความรับผิดชอบ ตลอดจนควบคุมกิจกรรมและบทบาทหน้าที่ให้เป็นไปตามสัญญาขนส่งสินค้า
     ทั้งนี้ ที่ประชุมได้สรุปมาตรการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาโดยสรุปตามกรอบระยะเวลาประกอบไปด้วย สิ่งที่ต้องดำเนินการในทันที ๑. ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้กรมเจ้าท่าศึกษากฎหมายที่สามารถนำมาใช้เรียกข้อมูลตู้สินค้าที่ขนส่งระหว่างทางจากตัวแทน Hanjin Shipping ในประเทศไทย และให้ทำจดหมายอย่างเป็นทางการไปยังบริษัทโดยเร็ว (ทั้งนี้ข้อมูลจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า ตัวแทน Hanjin Shipping ในประเทศไทยจดทะเบียนเป็นผู้รับจัดการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบตาม พ.ร.บ. ขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. ๒๕๔๘ และอาจใช้บทบัญญัติใน พ.ร.บ. ส่งเสริมพาณิชยนาวี พ.ศ. ๒๕๒๑ ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับ มีบทบัญญัติกำหนดให้ผู้ขนส่งสินค้าต้องส่งข้อมูลให้ภาครัฐตามที่ร้องขอ)
     แนวทางการดำเนินงานในระยะกลาง ประกอบไปด้วย ๒. กระทรวงคมนาคมจะพิจารณามอบหมายหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาในกรณีเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ (สายเดินเรือในระบบคอนเทนเนอร์) หลายรายมีปัญหาการขาดทุนจากการให้บริการเช่นเดียวกัน ๓. กระทรวงจะพิจารณาถึงผลกระทบจากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งอื่นๆ ที่บริษัท Hanjin Shipping ลงทุนหรือร่วมลงทุนในประเทศไทยเพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป
     สำหรับแนวทางการดำเนินงานในระยะยาว ประกอบไปด้วย ๔. ให้มีการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. บริหารการขนส่ง พ.ศ. ... ซึ่งมีบทบัญญัติที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ๕. ให้ศึกษาแนวทางการจัดทำ (ร่าง) พ.ร.บ. ผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ... เพื่อให้มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามสัญญาขนส่งให้ชัดเจน รวมถึงให้มีการกำหนดวงเงินสำหรับเป็นหลักประกันความรับผิดในการให้บริการ เป็นต้น และ ๖. ควรมีการยกระดับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายในท่าเรือและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด โดยอาจดำเนินการตามแนวทางขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศที่พยายามผลักดันให้มีการพัฒนาระบบ Maritime Single Window (MSW) ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ ระบบ MSW ยังช่วยให้ท่าเรือและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของไทยเชื่อมโยงกับต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น