สจล. สร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ พร้อมเป็นสถาบันบ่มเพาะ แพทย์นวัตกร
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) คิดค้นวัตกรรมทางการแพทย์ โชว์ศักยภาพการผสานความรู้ด้านวิศวกรรม การแพทย์ และการสร้างสรรค์นวัตกรรม สนับสนุนเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการสร้างแพทย์นวัตกรเพื่ออนาคต
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านการแพทย์ และสาธารณสุขที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่ดูแลประชาชนกว่า 60 ล้านคนอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดีการที่ต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงของประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยที่จะมีการเจ็บป่วยมากขึ้น รวมถึงเราเป็นประเทศเปิดที่มีผู้มาเยือนมากกว่า 25 ล้านคนต่อปี การพึ่งพาการนำเข้าอุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ต่างๆ จะเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สำคัญในอนาคตของไทย”
สจล. ได้ริเริ่มเตรียมความพร้อมให้กับวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่กำลังจะเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติในปีการศึกษา 2561 จึงมอบหมายให้สำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมสจล. ที่มีผลงานเด่นในการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ จากทั้งทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มาร่วมบูรณาการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลัก คือ
- ส่งเสริมศักยภาพการผลิตแพทย์ระดับโลก (Global doctors) ที่มีความรู้เชิงวิชาการ ทั้งในด้านการรักษาโรคเฉพาะทางและศักยภาพด้านการวิจัย และพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุข
- สร้างนวัตกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ตองสนองทั้งแพทย์ และผู้ป่วยทั้งของวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติสจล. และโรงพยาบาลในประเทศ
- การเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ยั่งยืนและครบวงจร เป็นแหล่งข้อมูลด้านสิทธิบัตรและส่งเสริมการผลิตเชิงพาณิชย์
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเสริมว่า “ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติสจล. จะได้สร้างเครือข่ายกับศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานครเพื่อบูรณาการความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีให้และสร้างตระหนักถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหากประเทศไทยมีอุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศเพิ่มมากขึ้น”
รองศาสตราจารย์ ดร.อิทธิพล แจ้งชัด ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม สจล. กล่าวเสริมว่า “การพัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ของสจล. จะต้องสร้างความยั่งยืนของประเทศไปพร้อมกัน เรามุ่งเน้นให้เพิ่มการใช้วัตถุดิบที่ประเทศไทยมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้ส่วนผสมของยางพาราธรรมชาติเพื่อการผลิตอุปกรณ์ทั้งที่เป็นวัสดุสิ้นเปลืองในงานสาธารณสุข เช่น ถุงมือ สายน้ำเกลือชุดฉีดยา และอุปกรณ์ช่วยการตรวจรักษา”
การนำยางพารามาใช้ในการพัฒนา และผลิตอุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลืองทางการการแพทย์ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ยางพาราได้เป็นอย่างดี โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยส่งออกยางพาราไปต่างประเทศในรูปแบบยางดิบคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 87% ของผลผลิตยางพาราทั้งหมด ส่วนผลิตสินค้าแปรรูปจากยาง เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์ทางการแพทย์รวมถึงของใช้ต่างๆ คิดเป็นสัดส่วน 13% แต่รายได้จากยางแปรรูปมีมูลค่าเท่าเทียมกันกับการส่งออกยางดิบ การพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ยางพารา นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมยางพาราแล้ว ยังช่วยลดการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ
“สจล. เล็งเห็นประโยชน์ในข้อนี้มานาน และได้มีโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่มีคุณภาพ จนเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ต้นแบบหลายโครงการ อาทิ โครงการแบบจำลองฝึกตรวจมะเร็งเต้านมจากโฟมยางธรรมชาติ ที่ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ได้เรียน และประชาชนทั่วไปสามารถฝึกและตรวจเต้านมได้ด้วยตนเองเพื่อเป็นการคัดกรองโรคในเบื้องต้นและเต้านมเทียม ที่มีการผสมผสานยางพาราและซิลิโคนที่ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความคล้ายคลึงกับธรรมชาติมากที่สุด ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” รองศาสตราจารย์ ดร.อิทธิพลกล่าว
นอกจากนี้สจล. ยังได้พัฒนานวัตกรรมอีกหลายชิ้นงานที่ปัจจุบันได้มีการใช้งานจริงในโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่ง ได้แก่
- อัลบูมินสมาร์ทเทสท์” นวัตกรรมชุดทดสอบภาคสนาม สำหรับตรวจอัลบูมินในปัสสาวะโดยใช้โทรศัพท์มือถือ ที่ให้ความสะดวกรวดเร็ว และแม่นยำไม่ต้องรอผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ
- แอพพลิเคชั่นตรวจโรคหนังตาตก (iOS Application for Ptosis Diagnosis)
- โปรแกรมชุดฝึกกายภาพบำบัดมือและกล้ามเนื้อแขนในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีปัญหาด้านกล้ามเนื้อมือและแขนสามารถฟื้นฟูกล้ามเนื้อได้ด้วยตนเองที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์อนันต์ ศรีเกียรติขจร รักษาการคณบดี วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวเสริมว่า “ ข้อดีของการมีวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติในการช่วยการวิจัยพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ คือ เราสามารถทำงานผลงานวิจัยให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น เริ่มต้นจากการมีข้อมูลความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์มาเป็นโจทย์ตั้งต้นในกระบวนการวิจัย สามารถทดสอบประสิทธิภาพ เก็บข้อมูลสถิติการใช้งานของผลงานที่คิดค้นขึ้นเพื่อนำไปปรับปรุงให้เกิดเป็นชิ้นงานต้นแบบ (Prototypes) และส่งเสริมให้มีการจดเป็นสิทธิบัตรเพื่อให้นำผลงานต้นแบบนั้นๆ ไปผลิตและจำหน่ายทางธุรกิจได้จริง”
ทั้งนี้ขอบเขตการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์การแพทย์ร่วมกับสำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมสจล. ดังกล่าวจะครอบคลุม 4 นวัตกรรมเป้าหมาย คือ นวัตกรรมช่วยการวินิจฉัยโรค นวัตกรรมเพื่อการรักษา นวัตกรรมเพื่อการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย และนวัตกรรมเพื่อการเรียนการสอนแพทยศาสตร์
วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติสจล. ก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิตแพทย์ที่เป็นนักสร้างนวัตกรรมที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและความเป็นจริงในประเทศไทยเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศซึ่งมีมูลค่าสูงมาก รวมทั้งการเปิดสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษ จะพัฒนาแพทย์ที่มีความเป็นนานาชาติสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ เข้าใจบริบทวัฒนธรรมต่างประเทศ และมีความสามารถในด้านการวิจัยทางการแพทย์ โดยในระยะแรกจะเปิดรับสมัครนักศึกษาจำนวน 40 – 50 คน ในระบบรับตรงเข้าเรียนในหลักสูตรแพทยศาสตร์ การจัดการเรียนการสอนจะมีคณาจารย์ซึ่งเป็นแพทย์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งชาวไทย และต่างประเทศ ที่มีประสบการณ์ในโรงพยาบาล หรือวิทยาลัยแพทย์ชั้นนำมาแล้ว ทั้งนี้นักศึกษาขึ้นชั้นปีที่ 4 จะเข้าศึกษาและฝึกภาคคลินิกในโรงพยาบาลสิรินธรและโรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานครที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสจล.