ADS


Breaking News

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เผยส่งออกครึ่งปี 59 และแนวโน้ม จับมือ สมอ. ทุ่มงบ 500 ล้าน ยกระดับมาตรฐานการทดสอบผลิตภัณฑ์อัจฉริยะ

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เผยส่งออกสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 6 เดือนแรกปี 59 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 25,701.63 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.72 ชี้ตลาดผันผวน และอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี  ทั้งภาวะเศรษฐกิจในตลาดจีน อาเซียน และญี่ปุ่นยังไม่นิ่ง คาดสิ้นปี 59 มูลค่าส่งออกโดยรวมจะอยู่ที่ 53,085 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังคงปรับตัวลดลงร้อยละ 1.6 พร้อมจับมือ สมอ.จัดทำมาตรฐานการทดสอบรองรับกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ จำนวน 283 มาตรฐาน ด้วยงบลงทุนราว  500 ล้านบาท หนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
    นายสมบูรณ์  หอตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม เผยข้อมูลสถานการณ์อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยในปัจจุบัน และแนวโน้มปี 2559 ภายใต้การรวบรวมข้อมูลและดำเนินงานโดย E&E Intelligence Unit พบว่า สถานการณ์การส่งออกของสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 มีมูลค่าส่งออก 25,701.63 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสหรัฐอเมริกา เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย รองลงมาคือ อาเซียน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน ตามลำดับ 
เฉพาะสินค้าไฟฟ้ามีมูลค่าการส่งออก 11,093.91 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังคงปรับตัวลดลงร้อยละ 4.01 พบว่า ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.25 ขณะที่ ตู้เย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.55 ส่วนที่ปรับตัวลดลง อาทิ กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องบันทึกวิดีโอ ภาพนิ่ง ลดลงร้อยละ 24.17 ส่วนเครื่อง รับโทรทัศน์สี ลดลงค่อนข้างมาก ร้อยละ 39.58 สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าการส่งออก 14,607.72 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.25 พบว่า  ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 80.19 ส่วนที่ปรับตัวลดลง อาทิ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ ลดลงร้อยละ 6.91
“จากมูลค่าการส่งออกสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลงในระยะนี้ เนื่องจากอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิตอล โดยธรรมชาติของตลาดจะนิ่งอยู่สักระยะหนึ่งเพื่อรอดูการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาเทคโนโลยี
ผู้ประกอบการในภาคการผลิตเองก็อยู่ในช่วงปรับตัวเพื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในปี 2559 ของสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จึงคาดว่าจะมีมูลค่า 53,085 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะปรับตัวลดลงร้อยละ 1.6
เมื่อเทียบจากปีก่อน แบ่งเป็นสินค้าไฟฟ้ามูลค่า 22,223 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.8 และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มูลค่า 30,862  ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.3 เนื่องจากตลาดส่งออกหลัก อาทิ ตลาดจีน อาเซียน และญี่ปุ่น ยังไม่ ฟื้นตัวมากนัก”
    นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค.-มิ.ย.) มีค่าดัชนีผลผลิตเป็น 109.97 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.82 เฉพาะสินค้าไฟฟ้ามีค่าดัชนี 132.20 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เกิดจากสินค้าหลายรายการ อาทิ พัดลม เครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น เป็นต้น ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีค่าดัชนี 96.12 ลดลงร้อยละ 2.34 สินค้าที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ได้แก่ ปริ้นท์เตอร์, ฮาร์ดดิสก์ ไดร์ฟ และเซมิคอนดักเตอร์
อย่างไรก็ตามในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2559 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม จำนวน 42 โครงการ มีเงินลงทุน 23,276 ล้านบาท และพบว่าผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในทางการแพทย์และเพื่อสุขภาพ เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีความสำคัญและมีศักยภาพที่จะมีการส่งเสริมให้มีการผลิตในประเทศมากขึ้น เพื่อตอบสนองสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทดังกล่าว มูลค่ากว่า 17,000 ล้านบาทต่อปี
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้ร่วมมือกับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) เพื่อยกระดับมาตรฐานและขยายขอบข่ายห้องปฏิบัติการทดสอบเพื่อรองรับการขยายการลงทุน และเพิ่มศักยภาพการผลิตในประเทศไทยสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยมีเป้าหมายในการจัดทำมาตรฐานรองรับกลุ่มผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ในปี 2560 – 2564 จำนวน 283 มาตรฐาน ซึ่งสมอ. ประมาณการงบลงทุนไว้ 500 ล้านบาท จะมีขอบข่ายครอบคลุมทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่และกลุ่มผลิตภัณฑ์เดิมที่มีศักยภาพ อาทิ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ(Smart  Electronics) เช่น เครื่องซักผ้า, เครื่องปรับอากาศอัจฉริยะ, อุปกรณ์เชื่อมต่อwifi, wireless, Internet of Things(IoT)  และสมองกลฝังตัว(Embedded system) เป็นต้น รวมทั้งผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในทางการแพทย์และเพื่อสุขภาพ
     “สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์และเพื่อสุขภาพ อาทิ เครื่องอุลตร้าโซนิค เครื่องเลเซอร์ และอุปกรณ์ทางด้านทันตกรรม ซึ่งมีการนำเข้าและใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในสถานพยาบาล และสถานเสริมความงาม ทางสถาบันไฟฟ้าฯ สมอ.และกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกันกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในการทดสอบ คาดว่าห้องปฏิบัติการทดสอบจะพร้อมให้บริการได้ภายใน 1 ปี ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้นำเข้า และผู้บริโภคเองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะเดียวกันก็จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการผลิตในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า และขยายสู่ภาคการส่งออกในที่สุด เนื่องจากผู้ผลิตจะเสียค่าใช้จ่ายไม่สูง และไม่ต้องนำผลิตภัณฑ์ไปทดสอบมาตรฐานในต่างประเทศ”