การประชุม อาเซียน เอส ที ไอ ฟอรัม 2016 “ร่วมกำหนดอนาคตนวัตกรรมอาเซียน”
วันที่ 21-23 กันยายน พ.ศ. 2559 โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม อาเซียน เอส ที ไอ ฟอรัม 2016 (ASEAN STI Forum 2016) ในวันที่ 21-23 กันยายน 2559 ณ โรงแรม แชงกรีลา กรุงเทพฯ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้กำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากประเทศไทย ประเทศสมาชิกอาเซียน และคู่เจรจาของอาเซียน จากภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และสถาบันการศึกษา มาร่วมกันอภิปรายประเด็นปัญหาและความท้าทายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่อาเซียนกำลังเผชิญ และหารือถึงความร่วมมือที่จำเป็นต่อการส่งเสริมการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในอาเซียน หัวข้อหลักของการประชุม อาเซียน เอส ที ไอ ฟอรัม 2016 คือ “ร่วมกำหนดอนาคตนวัตกรรมอาเซียน” มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานประมาณ 400
ข้อสรุปและผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุม อาเซียน เอส ที ไอ ฟอรัม 2016 จะได้รับการเสนอต่อคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องในอาเซียน เพื่อดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พ.ศ. 2559-2568 (APASTI Implementation Plan 2016-2025) นำรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ASEAN Ministerial Meeting on Science and Technology: AMMST) ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ณ ประเทศกัมพูชา ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการขับเคลื่อนปัจจัยสำคัญและผู้มีบทบาทในการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศไทยเชื่อมโยงไปสู่ภูมิภาคอาเซียน
หัวข้อหลักของการประชุมเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและขับเคลื่อนปัจจัยของการผลิตนวัตกรรม ได้แก่ เครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่ของอาเซียน (ASEAN New Growth Engine), การสนับสนุนเงินในการพัฒนานวัตกรรม (Financing Innovation), การส่งเสริมผู้ประกอบการและการดึงดูดให้เกิดพื้นที่นวัตกรรม (Startups, Entrepreneurs and Innovation Hot Spots), ปฏิทรรศน์ของการพัฒนาระบบสเต็มในอาเซียน (STEM Paradox and Ecosystem Development in ASEAN), นโยบายและแนวทางการเคลื่อนย้ายบุคลากรผู้มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในอาเซียน (Talent Mobility and Policy Platform in ASEAN), การทูตวิทยาศาสตร์เพื่อความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในอาเซียน (Science Diplomacy and STI Cooperation in ASEAN), และสรุปประเด็นสำคัญที่จะสื่อสารไปถึงผู้นำประเทศในอาเซียน (Action Agenda and Message to the Leaders)
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ทุกประเทศในอาเซียนต่างให้ความสำคัญกับการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม โดยล่าสุดอาเซียนได้จัดทำแผนความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมระยะ 10 ปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีการจัดตั้งกองทุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมร่วมกัน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมในอาเซียน ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาท้าทายร่วมของอาเซียน เช่น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน การบริหารจัดการภัยพิบัติ การดูแลรักษาและการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร เป็นต้น นอกจากนี้แผนความร่วมมือดังกล่าว ยังได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมให้อาเซียนเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และสังคมนวัตกรรม มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรม การส่งเสริมนวัตกรรมระดับเยาวชน ร่วมถึงการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมชุมชนและนวัตกรรมระดับฐานรากด้วยเช่นกัน
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวเสริมว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทน. ได้รับมอบหมายจากอาเซียนให้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาในการจัดทำแผนปฏิบัติการความร่วมมือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอาเซียน ระยะ 5 ปีแรก ระหว่างปี 2016 - 2020 ซึ่งการจัดประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างบทบาทนำของไทย ในการระดมทรัพยากรและองค์ความรู้จากภาคส่วนต่างๆ ทั้งจากประเทศอาเซียน และประเทศคู่เจรจาของอาเซียน รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ มาช่วยออกแบบและกำหนดทิศทางการพัฒนานวัตกรรมอาเซียน โดยในส่วนของประเทศไทยในระยะ 5 ปี นี้ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร และการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างอาเซียน (ASEAN Talent Mobility) การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM) ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารผ่านกลไกเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) และการพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ร่วมกับอาเซียน และประเทศพันธมิตร
ศาสตราจารย์ ซัง ฮอน เมียง (Prof. Sung Hyon Myaeng) รองประธานสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงของประเทศเกาหลี หรือ ไคซ์ (Korea Advanced Institute of Science and Technology: KAIST) กล่าวว่าทางสถาบันยินดีสนับสนุนข้อริเริ่มของไทยในโครงการ ASEAN Talent Mobility ในการพัฒนาวิศวกร และแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ในสาขาที่ไทยและอาเซียนขาดแคลน รวมถึงสนับสนุนโครงการวิจัยร่วมกับอาเซียนในสาขาที่ไคซ์เชี่ยวชาญกว่า 20 สาขา
นางเลเรน เฮริตัน (Lorraine Hariton) รองประธานอาวุโส สมาคมนักวิทยาศาสตร์แห่งนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา กล่าวว่ากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (STEM) เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาอาเซียนให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และสังคมนวัตกรรม โดยทางสมาคมมีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยชั้นนำระดับโลก และมีประสบการณ์ในการพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีรุ่นใหม่ และโครงการส่งเสริมนวัตกรรมระดับเยาวชน ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับประเทศต่างๆในอาเซียน ในการจัดตั้งเครือข่ายนานาชาติด้านการพัฒนากำลังคนและการศึกษา STEM (Global STEM Alliance)
Official Website: www.asanstiforum.net