สมาธิ ปรับอารมณ์ทั้ง 7
จากสภาวะความตึงเครียดในปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมาก เกิดอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะตื่นเต้น วิตกกังวล เครียด เสียใจ หรือดีใจ ซึ่งอารมณ์เหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน จะส่งผลถึงสุขภาพทางกาย และสุขภาพทางใจ และกลายเป็นโรคต่างๆ ขึ้นมา
ตามหลักศาสตร์แพทย์แผนจีนได้บันทึกมายาวนานถึงสาเหตุการเกิดโรคต่างๆ ซึ่งปัจจัยที่สำคัญคือ “อารมณ์” โดยการแพทย์แผนจีนโบราณได้พูดถึงอารมณ์ทั้ง 7 อาทิ ดีใจ โกรธ วิตกกังวล คิดมาก เสียใจ หวาดกลัว และตระหนกตกใจ ซึ่งอารมณ์เหล่านี้มีความใกล้ชิดกับอวัยวะภายในต่างๆ ของร่างกาย ถ้าหากเกิดอารมณ์อย่างใดอย่างนึงแบบฉับพลัน รุนแรง หรือเกิดเป็นระยะเวลานาน ก็จะส่งผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย สภาวะเสียสมดุลจึงเกิดขึ้น ส่งผลให้ลมปราณ เลือด หยิน หยางของร่างกายทำงานไม่สัมพันธ์กัน ก่อให้เกิดความผิดปกติสะสมจนเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น
อาจารย์หยาง เผยเซิน เปิดเผยว่า อารมณ์ทั้ง7 ดังที่กล่าวเบื้องต้นนั้น มีความสัมพันธ์กับอวัยวะๆ ต่างๆ ดังนี้
อารมณดีใจ ส่งผลกระทบกับหัวใจ ทำให้เลือดและลมปราณหัวใจไหลเวียนช้าลง ช่วยผ่อนคลาย สบายใจ เลือดลมไหลเวียนดี ถ้าหากดีใจมากเกินไป เลือดและลมปราณจะกระจัดกระจาย ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เกียจคร้าน ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ
แต่ถ้าอาการดังกล่าวเป็นมาก ก็จะเกิดภาวะใจสั่น กระวนกระวาย อาละวาด
อารมณ์โกรธ ส่งผลกระทบต่อตับ ทำให้เลือดและลมปราณ(ชี่)ปั่นป่วนแล่นขึ้นสูง เกิดอาการ เวียนศีรษะ หน้าแดง หูมีเสียง อาเจียนเป็นเลือด หมดสติ ชี่ตับกระทบม้าม เกิดท้องอืด ท้องเดิน ชี่ตับกระทบกระเพาะอาหาร เกิดคลื่นไส้ อาเจียนและชี่ตับกระทบไต ทำให้รู้สึกหวาดกลัว ความจำเสื่อม ปวดเมื่อย อ่อนแรงที่เอว
อารมณ์เศร้าโศกเสียใจ ส่งผลกระทบต่อชี่ของปอด ทำให้ชี่แล่นลงต่ำ ส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ ชี่ของปอดถูกบั่นทอน ชี่ปอดพร่องจะทำให้แน่นหน้าอก หายใจขัด เชื่อมซึม ไม่มีแรง กระทบต่อชี่หัวใจ เกิดอาการใจสั่น ใจลอย และกระทบต่อชี่ม้าม ชี่ในจงเจียวติดขัด จะทำให้อาหารไม่ย่อย ท้องอืด แขนขาอ่อนแรง
อารมณ์ครุ่นคิด ส่งผลกระทบต่อชี่ของม้าม ชี่ม้ามติดขัด จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของม้าม และกระเพาะอาหาร ทำให้เบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องเดิน ม้ามทำหน้าที่ลำเลียงชี่และเลือดไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อ เมื่อเกิดการติดขัด กล้ามเนื้อจะลีบเล็กลง ถ้าครุ่นคิดมาก ทำให้เลือดของหัวใจถูกใช้ไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้เลือดหัวใจพร่อง มีอาการใจสั่น นอนไม่หลับ ฝัน ความจำเสื่อม ขี้หลงขี้ลืม
อารมณ์ซึมเศร้าวิตกกังวล ส่งผลกระทบปอด หากวิตกกังวลมากเกินไป ชี่ปอดจะติดขัด เกิดอาการหายใจเบา พูดเสียงต่ำ แน่นหน้าอก แล้วยังมีผลกระทบชี่หัวใจ รวมทั้งตับและม้ามได้
อารมณ์หวาดกลัว ส่งผลกระทบต่อไต ทำให้ชี่ไตตก ไม่มีแรงดูดรั้ง ทำให้ผู้นั้นกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ ฝันเปียก แขนขาไม่มีแรง ปวดเอว ทำให้ไตไม่สามารถส่งสารจำเป็นและชี่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจและปอด เรียกว่า ไฟกับน้ำไม่ปรองดองกัน จะเกิดอาการแน่นหน้าอกและท้องหงุดหงิด นอนไม่หลับ
อารมณ์ตกใจ ทำให้ชี่หัวใจสับสน ชี่และเลือดไม่สมดุล ทำให้เกิดอาการใจสั่น กระวนกระวาย นอนไม่หลับ หายใจขัด ถ้าเป็นมาก จะมีอาการของโรคจิตประสาท
อาจารย์หยาง เผยเซิน กล่าวต่ออีกว่า อารมณ์มีผลต่อการเกิดโรค ถ้าอารมณ์ทั้งเจ็ดเกิดขึ้นอย่างฉับพลันรุนแรงหรือติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ย่อมส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ถ้าเราไม่อยากป่วยก็ควรมี สติ รู้เท่าทันอารมณ์ขอตนเองอยู่เสมอ ซึ่งการนั่งสมาธิ โดยใช้หลักเสี่ยวโจวเทียนจะสามารถช่วยในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้โดยใช้สมาธิขั้นสูง หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบนั่งสมาธิและอยากรู้ว่าสมาธิของคุณอยู่ในระดับไหน การฝึกเสี่ยวโจวเทียนสามารถให้คำตอบได้ ที่พิเศษคือ เมื่อฝึกแล้วทำให้แก่ช้า ปรับอารมณ์ให้เย็นลง เพราะทำให้เซลล์ของเรามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แข็งแรงขึ้น แต่ที่สำคัญคนจะเรียนหลักสูตรนี้ได้ต้องมีความศรัทธา และต้องมีสมาธิ มีเวลา ขยันฝึก
การฝึกหลักสูตรนี้ ผู้ฝึกต้องเป็นผู้มีจิตนิ่งบริสุทธิ์ ดีที่สุด คือ ต้องมีพื้นฐานเช่นเคยนั่งสมาธิ รำไทเก็ก เคยเรียนโยคะมาก่อน โดยในการเรียนต้องมีการถ่ายทอดพลังซึ่งกันและกัน ซึ่งการส่งพลังมี 2 วิธี วิธีแรกคือการส่งพลังแบบสัมผัสตัวผู้รับพลัง วิธีที่สอง คือ การส่งพลังโดยยืนห่างจากผู้รับประมาณ 3 นิ้ว และเวลามาเรียนเราต้องเปิดจักระให้ทุกคน ถ้าไม่เปิด เรียนตลอดชีวิตก็ไม่มีทางสำเร็จ”