ADS


Breaking News

ETDA IUP เอ็ตด้าเผยพฤติกรรมผู้ใช้เน็ตปี 59 ชี้เทรนด์ใหม่มาแรง ชงรัฐ-เอกชน จับตา 3G/4G ยังต้องปรับปรุง

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปี 2559 ยุค 4 จีทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไฮไลต์ นักท่องเน็ตผ่านมือถือโต 9 เปอร์เซ็นต์ จากปี 58 ยอด 5.7 พุ่ง  6.2 ชั่วโมงต่อวัน    ช่วงเวลาที่ใช้มากที่สุด 4 โมง ถึง 8 โมงเช้า เพศที่ 3 และเจน Y ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือสูงสุด เจน X ขึ้นไปเน้นไลน์  เจน Z และ Y นิยมท่องยูทูบ คาดเทรนด์ใหม่ยุค 4G ชี้ นักการตลาดต้องสน คนยุคนี้ท่องเน็ตเพื่อ ‘แชต ชม อ่าน’ ขณะที่การให้บริการ 3G/4G ยังต้องปรับปรุง
ผู้แทน ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า จากการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 4 G เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ทำให้มีการเปิดให้บริการเทคโนโลยี 4G อย่างเป็นทางการในปีนี้ นับว่าส่งผลอย่างมาก ในการเปลี่ยนแปลงการใช้งานอินเทอร์เน็ตในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมผลสำรวจพฤติกรรม ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของเอ็ตด้าในปีนี้จึงมีมิติในเชิงที่ลึกขึ้น ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั้งผ่านสมาร์ตโฟน และคอมพิวเตอร์ ได้อย่างครอบคลุม และน่าเชื่อถือเป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ที่จะนำไปใช้ในการวางแผน/กำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ และแบรนด์สินค้าในการนำข้อมูลผลการสำรวจไปใช้ประกอบ การจัดทำแผนธุรกิจหรือปรับกลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการหรือพฤติกรรมของลูกค้า กลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผล อันจะส่งผลให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ของประเทศมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลสำรวจพฤติกรรมนี้จะมีส่วน ในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพได้เท่าทันต่อแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลง อันเป็นผลพวงจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้
สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ  ETDA (เอ็ตด้า) เผยว่า การนำเสนอผลการสำรวจในปีนี้ เรานำพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมาจำแนกเป็นรายเจนเนอเรชัน ทั้งบนสมาร์ตโฟน แทบเล็ต และบนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ก เพื่อให้เข้าใจง่าย ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่อาศัยในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และมีการกระจายตัวของเพศ อายุ การศึกษา สถานภาพการทำงาน และรายได้ที่สอดคล้องกับโครงสร้างประชากร สามารถนำไปวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ อินเทอร์เน็ตเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มได้ ได้แก่ เจน Z, เจน Y, เจน X และ Baby Boomer

จากการสำรวจพบว่า จำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตในภาพรวมทั้งผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ และคอมพิวเตอร์ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 45.0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็นระยะเวลาการใช้งานเฉลี่ย 6.4 ชั่วโมงต่อวัน โดยเพศที่สาม และ Gen Y เป็นกลุ่มที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยสูงที่สุด อยู่ที่ 48.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 53.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามลำดับ
สมาร์ตโฟนยังคงเป็นอุปกรณ์หลักที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนิยมใช้ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยมีจำนวนผู้ใช้งานมากถึงร้อยละ 85.5 และมีจำนวนชั่วโมงการใช้งานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6.2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งทั้งจำนวนผู้ใช้งานและจำนวนชั่วโมงการใช้งานของปีนี้สูงกว่าปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2558 มีจำนวนผู้ใช้งานร้อยละ 82.1 และมีจำนวนชั่วโมงการใช้งานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.7 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น
ช่วงเวลาเรียน/ทำงาน (08.01 – 16.00 น.) คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นอุปกรณ์อันดับ 1 ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนิยมใช้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยช่วงเวลา 08.01–12.00 น. เป็นช่วงเวลาที่คนนิยมใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 64.5 ขณะที่ช่วงเวลาหลังเลิกเรียน/ทำงานจนถึงเช้า (16.01 – 08.00 น.) สมาร์ตโฟนเป็นอุปกรณ์อันดับ 1 ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนิยมใช้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. เป็นช่วงเวลาที่คนนิยมใช้สมาร์ตโฟนในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 68.4
สำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ คิดเป็นร้อยละ 29.3 ใช้อินเทอร์เน็ตระหว่างการเดินทางในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่พักอาศัยในต่างจังหวัด ซึ่งมีเพียงร้อยละ 10.3 เท่านั้น ด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตของคนกรุงเทพฯ ที่ดีและพร้อมกว่าต่างจังหวัด และตลอดจนคนกรุงเทพฯประสบปัญหาสภาพการจราจร ที่แออัดหนาแน่นกว่าต่างจังหวัด ทำให้คนกรุงเทพฯนิยมที่จะหยิบโทรศัพท์มือถือ ขึ้นมาเล่น/ใช้งานในระหว่างรถติด
กิจกรรมยอดนิยม 5 อันดับแรกที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนิยมทำผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ ได้แก่ การพูดคุยผ่าน Social Network (ร้อยละ 86.8) รองลงมา เป็นการดูวิดีโอผ่าน YouTube (ร้อยละ 66.6), การอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 55.7), การค้นหาข้อมูล (ร้อยละ 54.7) และการทำธุรกรรมทางการเงิน (ร้อยละ 45.9) ตามลำดับ
ในส่วนของสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยม 3 อันดับ พบว่า อันดับแรก ได้แก่ YouTube มีผู้ใช้งานมากถึงร้อยละ 97.3 รองลงมา คือ Facebook และ Line มีผู้ใช้งานคิดเป็นร้อยละ 94.8 และ 94.6 ตามลำดับ
โดยกลุ่มที่ใช้งาน YouTube มากที่สุดได้แก่ เจน Y และ เจน Z คิดเป็นร้อยละ 98.8 และ 98.6 ตามลำดับ ขณะที่ 2 กลุ่มนี้ใช้ Facebook คิดเป็นร้อยละ 97.9 และ 93.8 ตามลำดับ เป็นอันดับ 2 ส่วนอันดับ 3 คือ Line คิดเป็นร้อยละ 97.2 และ 91.4 ตามลำดับ
ในขณะที่ Line เป็นแอปพลิเคชันที่กลุ่ม Baby Boomer และ เจน X นิยมใช้ติดต่อสื่อสารมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 91.5 และ 96.2 ตามลำดับ รองลงมา คือ YouTube คิดเป็นร้อยละ 89.3 และ 95.3 ตามลำดับ ส่วนอันดับ 3 คือ Facebook คิดเป็นร้อยละ 86.5 และ 93.9 ตามลำดับ
เมื่อทำการสำรวจด้านความถี่ในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์แต่ละประเภท พบว่า Facebook ยังคงเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการใช้งานบ่อยที่สุดเป็นอันดับ 1 รองลงมา เป็น Line และ YouTube โดยมีสัดส่วนของผู้ใช้งาน คิดเป็นร้อยละ 84.2, 82.0 และ 76.9 ตามลำดับ
ในด้านปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ต จากผลการสำรวจ พบว่า ปัญหาอันดับแรก ได้แก่ ความล่าช้าในการเชื่อมต่อ/ใช้อินเทอร์เน็ต (ร้อยละ 70.3) รองลงมา เป็นเรื่องของปริมาณโฆษณาที่มารบกวน (ร้อยละ 50.7), การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยาก/หลุดบ่อย (ร้อยละ 32.7), เสียค่าใช้จ่ายแพง (ร้อยละ 26.8) และการให้บริการอินเทอร์เน็ตยังไม่ทั่วถึง (ร้อยละ 21.2) ตามลำดับ
ในความคิดเห็นของผู้ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ผ่านระบบ 3G/4G ปัญหาสำคัญที่สุด 3 อันดับแรกที่เกิดจากการใช้งานระบบ 3G/4G อันดับแรก เป็นเรื่องของความสิ้นเปลืองแบตเตอรี่ ต้องหมั่นคอยชาร์จ รองลงมา เป็นเรื่องของการใช้งาน 4G ในบางพื้นที่ไม่มีสัญญาณ หรือสัญญาณอ่อน และค่าใช้จ่ายในการใช้งานค่อนข้างสูง คิดเป็นร้อยละ 70.4, 64.7 และ 40.2 ตามลำดับ
     ข้อมูลเหล่านี้ เป็นข้อมูลที่ชัดเจนในเรื่องการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งผ่านสมาร์ตโฟน และคอมพิวเตอร์พอจะสรุปได้ว่าคนส่วนใหญ่ยังคงชื่นชอบการสื่อสารจากการแชตในสังคม ออนไลน์มากที่สุด ขณะที่การชมยูทูบเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความบันเทิงที่เป็นที่นิยม สำหรับการอ่านอีบุ๊กคนไทยยังคงให้ความสำคัญเป็นอันดับ 3 ทั้งหมดช่วยให้การประเมินต่อยอดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของทั้งภาครัฐเอง เอกชน และคนทั่วไปง่ายขึ้นในการเข้าถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงเป็นกำลังใจให้วงการดิจิทัลคอนเท็นต์ในการที่สร้างสรรค์งานเขียน และสื่อสร้างสรรค์ออนไลน์ดี ๆ ต่อไป