ผู้เชี่ยวชาญชี้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ “อวดอ้าง” หรือ “ชักจูงใจ” ไม่เป็นความผิด
บรรยายภาพ: สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย จัดงานเสวนา “กฎหมายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”
ถอดบทเรียนสื่อมวลชนและภาคธุรกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากจากภาคธุรกิจ ภาคกฎหมาย และสื่อมวลชนร่วมเป็นวิทยากร
(จากซ้ายไปขวา) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิจิตรา สึคาโมโต้ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ คุณประมาณ เลืองวัฒนะวณิช ทนายความและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย คุณธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกฮอล์ไทย และคุณโตมร ศุขปรีชา นักคิด นักเขียน และคอลัมนิสต์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15453/2557 ได้ให้แนวทางของกฎหมายว่าการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นความผิดตาม พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ว่าจะต้อง “อวดอ้างสรรพคุณ” หรือ “ชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม”
- TABBA ระบุมาตรา 32 แห่ง พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คลุมเครือไม่ชัดเจน เสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ เพื่อให้แนวทางแก่ผู้ประกอบการในการปฏิบัติตามกฎหมาย
กรุงเทพฯ, 18 สิงหาคม 2559 – ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชี้ชัดการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หากไม่อวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 32 แห่ง พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15453/2557 ด้านสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยระบุมาตรา 32 คลุมเครือไม่ชัดเจน การบังคับใช้ขึ้นกับการตีความของเจ้าพนักงาน ทำให้ยากต่อการปฏิบัติตาม ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่างๆ เป็นวงกว้าง จึงเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแนวทางการปฏิบัติตามมาตรา 32 เพื่อเป็นแนวทางแก่ทุกฝ่ายในการบังคับใช้และปฏิบัติตามกฏหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณประมาณ เลืองวัฒนะวณิช ทนายความและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย กล่าวว่า “กฎหมายหลักที่ใช้ควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยคือ มาตรา 32 แห่ง พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งในวรรค 1 ระบุว่า ‘ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม’ ซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในการตีความว่าการกระทำใดที่ต้องห้ามตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของข้อกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15453/2557 ได้ให้บรรทัดฐานในการตีความไว้อย่างชัดเจนว่าการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หากมิได้มีเนื้อหาอันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรงหรือโดยอ้อมแล้วนั้น ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 32”
คุณธนากร คุปตจิตต์ ประธานสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA เปิดเผยว่า “คำ
พิพากษาศาลฎีกาที่ 15453/2557
จะช่วยให้ทุกฝ่ายทั้งผู้บังคับใช้และภาคธุรกิจมีความเข้าใจตรงกันถึงขอบเขต
ของการโฆษณาตามวรรค 1 ของมาตรา 32 แห่ง พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
พ.ศ. 2551 ยิ่งขึ้น
เพราะที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวขึ้นกับดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน
แต่ละบุคคลว่าการกระทำใดเป็นความผิดหรือไม่เป็นความผิด
ทำให้ยากต่อการปฏิบัติตาม
ทั้งยังมีโทษและแรงจูงใจในเรื่องของเงินสินบนนำจับ
ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในวงกว้าง ทั้งต่อการท่องเที่ยว
และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งค้าปลีก ร้านอาหาร
ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทางสมาคมฯ
จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐในการให้ความเห็นทางกฎหมาย
ตีความและกำหนดแนวทางในการปฏิบัติตามมาตรา 32
เกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เพื่อเป็นหลักแก่ทุกฝ่ายในการบังคับใช้และปฏิบัติตามกฎหมายนี้ได้อย่างมี
ประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต่อไป”
คุณโตมร ศุขปรีชา สื่อมวลชนและคอลัมนิสต์ กล่าวว่า “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์มาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสังคมและวัฒนธรรมในหลากหลายมิติ รวมถึงวัฒนธรรมอาหาร จึงมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น วัฒนธรรมการผลิตและบริโภคไวน์ในยุโรป หรือการทำสาเกในประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีข้อจำกัดมากและในบางครั้งไม่อาจทำได้ เพราะถูกตีความว่าเป็นการชักจูงใจ ทั้งๆ ที่ความมุ่งหมายของสื่อมวลชนคือการนำเสนอวัฒนธรรมที่แตกต่างเพื่อขยายมุมมองของสาธารณชนเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หาใช่การส่งเสริมให้คนดื่มอย่างไร้สติ การควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงไม่ควรอิงกับหลักศีลธรรมแต่เพียงอย่างเดียวโดยมองข้ามมิติอื่น และต้องอยู่บนพื้นฐานที่เชื่อว่าประชาชนทุกคนมีเหตุผล สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองอย่างเหมาะสม”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “การควบคุมสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยนโยบายสาธารณะนั้น จะต้องอยู่บนฐานของเหตุผลและข้อเท็จจริง โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการปกป้องสวัสดิภาพของสังคมโดยรวม ควบคู่ไปกับการเคารพสิทธิและเสรีภาพของทุกฝ่ายทั้งผู้ดื่มและผู้ไม่ดื่ม ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติของอารยประเทศ ซึ่งพบว่าสามารถป้องกันสังคมจากพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการควบคุมแบบสุดโต่งบนฐานของศีลธรรม เช่น การเบลอภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรายการโทรทัศน์ ทั้งๆ ที่คนดูต่างก็รู้ว่าสิ่งที่ถูกเบลออยู่นั้นคืออะไร”
“สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกฮอล์ไทยได้สร้างมาตรฐานของอุตสาหกรรมในการทำการตลาดและโฆษณาอย่างรับผิดชอบต่อสังคม โดยสมาชิกของ TABBA มีระเบียบปฏิบัติด้านการตลาดที่มากกว่ากฎหมายกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ทำการตลาดกับผู้ที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนส่งเสริมการดื่มอย่างรับผิดชอบผ่านการส่งเสริมความรู้และความเข้าใจแก่คนในสังคม ทั้งนี้ สมาคมฯ พร้อมที่จะมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากยิ่งขึ้น เรามีข้อมูล งานวิจัย และกรณีศึกษาการแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแผนงาน นโยบาย และมาตรการต่างๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ต่อไป และที่สำคัญ ภาครัฐซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล ต้องยอมรับในการร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกับภาคเอกชน เพื่อการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” คุณธนากร กล่าวทิ้งท้าย
###
เกี่ยวกับสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย
สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (Thai Alcoholic Beverage Business Association: TABBA) ก่อตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552 โดยผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 7 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด, บริษัท บาคาร์ดี (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท บราวน์ ฟอร์แมน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เพอร์นอต ริคาร์ด ประเทศไทย (จำกัด), บริษัท สยามไวเนอรี่ เทรดดิ้ง พลัส จำกัด และบริษัทอินดิเพนเดนท์ ไวน์ แอนด์ สปิริต (ประเทศไทย) จำกัด
พันธกิจหลักของ TABBA ประกอบด้วย
- การสนับสนุนส่งเสริมการทำการตลาดและสื่อสารการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีจรรยาบรรณและ รับผิดชอบต่อสังคม พร้อมร่วมมือกันกำหนดกฎเกณฑ์การควบคุมตนเอง (self-regulation) ในประเด็นดังกล่าว
- ร่วมมือกับภาครัฐในทุกมิติ พร้อมนำเสนอข้อมูลวิจัยและงานวิชาการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแผนงาน นโยบาย และมาตรการต่าง ๆ ในการกำกับดูแลธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างถูกต้องเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ