ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประกาศกำไรสุทธิงวด 6 เดือน ปี 2559 จำนวน 367.2 ล้านบาท เติบโต 5.5% จากงวดเดียวกันของปี 2558 จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตดีขึ้น และควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้น
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2559 มีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 6,487.9 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 409.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.7 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2558 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิร้อยละ 23.2 สุทธิกับการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและ บริการสุทธิและรายได้อื่น ร้อยละ 3.0 และร้อยละ 35.8 ตามลำดับ กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 เป็นจำนวน 2,998.2 ล้านบาท เกิดจากการควบคุมต้นทุนที่ดีขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.2 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 19.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.5 เป็นจำนวน 367.2 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันสาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานและการบริหารต้นทุนที่ดีขึ้น สุทธิกับการเพิ่มขึ้นในสำรองหนี้สงสัยจะสูญร้อยละ 17.0 ซึ่งสอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานงวดหกเดือนปี 2559 และ 2558 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 918.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.2 ส่วนใหญ่เกิดจากการขยายตัวของสินเชื่อและการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ในขณะที่ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง 22.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.0 ส่วนใหญ่มาจากการลดลงของค่าธรรมเนียม จากการจัดหาเงินกู้ร่วมและค่าธรรมเนียมจากการให้บริการสินเชื่อ และรายได้จากการดำเนินงานอื่นลดลง 486.1 ล้านบาทหรือร้อยละ 35.8 ส่วนใหญ่เกิดจากธุรกรรมบริหารเงิน สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและ รายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดหกเดือนปี 2559 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2558 เพิ่มขึ้นจำนวน 6.6 ล้านบาทหรือร้อยละ 0.2 สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน สุทธิกับการลดลง ของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคาร สถานที่และอุปกรณ์ และค่าภาษีอากร อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้ จากการดำเนินงานงวดหกเดือนปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 53.8 ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2558 อยู่ที่ ร้อยละ 57.3 เป็นผลจากแผนการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีผนวกกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับงวดหกเดือนปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 3.79 เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 3.05 เป็นผลจากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
วันที่ 30 มิถุนายน 2559 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 202.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับ เงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงิน บางประเภท) จำนวน 214.8 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.7 จากสิ้นปี 2558 ซึ่งมีจำนวน 218.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 94.3 จากร้อยละ 91.1 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 8.8 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อ เงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ร้อยละ 4.3 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 เป็นผลจากความสามารถในการชำระหนี้ลดลงซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากลูกหนี้ภาคธุรกิจ สืบเนื่องมาจากสภาพแวดล้อม ทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแล และการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 อยู่ที่ร้อยละ 92.8 ลดลงจากสิ้นปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 106.5 ส่วนเงินสำรองของกลุ่มธนาคาร ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 อยู่ที่จำนวน 8.1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 3.2 พันล้านบาท
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 30 มิถุนายน 2559 มีจำนวน 35.1 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 15.1 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 10.9
สรุปผลการดำเนินงานงวด 6 เดือน 2559
| ||
งบการเงินรวม (ล้านบาท)
| ||
1H/2016
|
1H/2015
| |
กำไรสุทธิ
|
367.2
|
348.2
|
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ
|
4,876
|
3,957
|
รายได้ค่าธรรมเนียม
|
850
|
891
|
เอ็นพีแอล (Gross NPL)
| ||
- จำนวน (ล้านบาท)
|
8,803
|
7,952
|
- เปอร์เซ็นต์ต่อสินเชื่อรวม
|
4.3%
|
3.9%
|
อัตราค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ
|
92.8%
|
94.3%
|
NIM
|
3.79
|
3.05
|