ม.เอเชียอาคเนย์เปิดตัวโครงการ SAU IoT smart farming บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผลิตภัณฑ์การเกษตรและการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ
มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์เปิดตัวโครงการอุปกรณ์บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผลิตภัณฑ์การเกษตรและการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ ที่เรียกว่า โครงการ SAU- IoT Smart Farming ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างคณาจารย์และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา IOT มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ โครงการนี้วัตถุประสงค์เพื่อต้องการบอกเล่าเรื่องราวภายใต้คอนเซ็ปต์ Story of goods และ Story of Life เรื่องราวของชีวิต เรื่องราวของผลิตภัณฑ์ โดยใช้อุปกรณ์ด้านการสื่อสาร ซึ่งประกอบไปด้วยอุปกรณ์หลัก ๆ 3 ชนิด คือ 1. IoT Smart Farming ซึ่งเป็นแผงวงจรไฟฟ้า 2.สมาร์ทโฟนแสดงผล ผ่านระบบคลาวด์ และ 3. รถหุ่นยนต์เคลื่อนที่เร็ว เพื่อสำรวจสภาพสวนในแปลงผัก หรือฟาร์มสัตว์เลี้ยง ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ SAU- IoT Smart Farming จะเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทั่วไป และเกษตรอินทรีย์ ด้วยการเล่าเรื่องผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคได้รับรู้ โดยอาศัยเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) เกษตรกรสามารถนำเทคโนโลยี IoT มาใช้เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับพืชผลทางการเกษตรหรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจต่าง ๆ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ สามารถเป็นที่ถูกใจผู้บริโภคได้
อาจารย์ณัฏฐ์ โอธนาทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์กล่าวว่าโครงการนี้ ถือเป็นผลงานของนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา IOT โดย IoT สมาร์ทฟาร์ม จะเป็นเครื่องมือช่วยเหลือเกษตรกรแบบเรียลไทม์ ในการตรวจจับและวัดอุณหภูมิในอากาศ พร้อมกับวิเคราะห์ค่าความต้องการให้กับพืชและสัตว์เศรษฐกิจที่เลี้ยงไว้ เช่น การให้น้ำ ให้ปุ๋ยหรืออาหาร หรือค่าการวัดแสงแดดและอุณหภูมิ ซึ่งโครงการนี้ ได้นำมาใช้ทดลองแล้ว ที่สวนแอสพารากัส (หน่อไม้ฝรั่ง) ที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก โดยกระบวนการทำงานของเกษตรกรจะเริ่มต้นจากการจัดส่งรถหุ่นยนต์เคลื่อนที่เร็วบังคับวิทยุ เข้าไปที่แปลงผักสาธิต ตัวของรถจะมีกล้อง และระบบการบันทึกข้อมูล เช่น การวัดความชื้นในอากาศ การวัดค่าแสงแดดและอุณหภูมิ และส่งสัญญาณมายังสมาร์ทโฟน เพื่อแสดงผลผ่านระบบคลาวด์ เพื่อแจ้งให้เกษตรกร ได้วิเคราะห์ เช่น หากรู้ว่าตอนนี้ความชื้นต่ำไป ก็ต้องรดน้ำเพิ่มหรือเปิดสปริงเกอร์ ซึ่งข้อมูลตรงนี้เหมาะกับเกษตรกร
สำหรับหลักการทำงานในส่วนของผู้บริโภค จะใช้หลักการทำงานคล้าย ๆ กัน เมื่อผู้บริโภค เลือกซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาร ผักสวนครัวต่าง ๆ หรืออาหารปลอดสารพิษ เนื้อสัตว์ ประเภทต่าง ๆ สามารถนำสมาร์ทโฟนสแกนบาร์โค้ดของสินค้านั้น ๆ เพื่อลิงค์มายังเว็บไซต์ของผลิตภัณฑ์ได้ในแบบออนไลน์ผ่านการอัพโหลดขึ้นระบบคลาวด์ ซึ่งข้อมูลจะสามารถแสดงผลผ่านมายังสมาร์ทโฟน ซึ่งจะแสดงรูปแบบของกราฟแสดงผลแบบออนไลน์ที่เก็บรวบรวมไว้อย่างสมบูรณ์ ทำให้สามารถทราบได้ว่าผลิตภัณฑ์เกษตร อย่างเช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ถุงนั้นปลูกขึ้นที่ไหน มีแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์อย่างไร ได้รับน้ำ บรรยากาศ อุณหภูมิ แสง ความชื้น ตั้งแต่เริ่มปลูก จนกระทั่งเก็บเกี่ยว บรรจุ ขนส่ง จนถึงมือผู้บริโภค อันเป็นการเล่าเรื่องผลิตภัณฑ์นั้น ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี
อาจารย์ณัฏฐ์ กล่าวต่อว่า หัวใจของ Smart Farming โดยหัวใจหลักของมัน คือ Internet of Thing (IoT) ซึ่งสามารถส่งภาพขึ้นไปบนอินเตอร์เน็ต เป็นศูนย์กลางผ่านอินเตอร์เน็ตได้ และในอนาคตทุกอย่างจะต่อกับอินเตอร์เน็ตได้หมด จะมีเซนเซอร์เต็มไปหมดเลยและข้อมูลจะมีมหาศาล ซึ่งตรงนี้ก็จะเกิดความรู้ ดังนั้นสิ่งที่ซ่อนอยู่ตรงนั้นจะเอามาใช้อย่างไร โดยเฉพาะในภาครัฐน่าจะเป็นประโยชน์ ตรงที่เราสามารถรู้ได้ว่าแต่ละพื้นที่เกษตรเป็นยังไง ปลูกอะไร ควรจะจัดการกับพื้นที่การเกษตรอย่างไรในแต่ละจังหวัด อย่างเช่น ช่วงนี้แล้ง เราควรจะทำอย่างไร จะปลูกพืชหรือผลไม้ชนิดใด ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยเราเก็บโดยอัตโนมัติ และสามารถเฝ้าติดตามได้ตลอดเวลา
นายนรินทร์ แซ่อ้น นักศึกษาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (IOT) ปี 1 มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ กล่าวว่า โครงการ SAU- IoT Smart Farming จะได้ประโยชน์อย่างครบวงจร จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ทั้งในด้านของผู้บริโภค ในเรื่องของ 1.ได้ทราบแหล่งผลิต (place of origin) 2.สามารถสั่งให้ระบบ รดน้ำ ใส่ปุ๋ยและแร่ธาตุต่าง ๆ ได้อัตโนมัติ 3.ทราบกระบวนการและสิ่งที่พืชและสัตว์ได้รับระหว่างกระบวนการ และ 4. สามารถตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้อย่างมั่นใจขึ้น ส่วนประโยชน์สำหรับ เกษตรกร จะเป็นในเรื่องของ 1.การเพิ่มผลผลิต 2.สามารถปรับปรุงกระบวนการปลูก/ผลิต จากข้อมูลที่เก็บได้ 3.สามารถสั่งให้ระบบรดน้ำ ปุ๋ยและแร่ธาตุ ได้โดยอัตโนมัติ และ4.สามารถเฝ้าติดตามพืช สัตว์ ได้จากทุกที่ และประโยชน์สำหรับ ผู้จำหน่าย จะทำให้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สามารถสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจ ต้องการเข้าไปศึกษากระบวนการการทำงานเพิ่มเติมของโครงการ SAU IoT smart farming สามารถ เข้าชมได้ที่ https://sites.google.com/a/sau.ac.th/iotsmartfarm หรือโทรศัพท์สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-807 4500 ต่อ 190, 192 หรืออีเมล์ iot@sau.ac.th