ADS


Breaking News

สุดเข้ม เฟ้นหานักเขียนจาก 2,500 ผลงานเข้าชิงรางวัล ในโครงการปลุกจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดิน ครั้งที่ 5

     กรรมการตัดสินความเรียง จากซ้ายไปขวา  นายชินวัฒน์  ตั้งสุทธิจิต นายชูเกียรติ  ฉาไธสง  อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายอัศศิริ  ธรรมโชติ และอาจารย์ทองแถม  นาถจำนง

    นักเขียนระดับประเทศ รวมพลังคัดสรรผลงานความเรียงชิ้นเลิศกว่า 2,500 ผลงาน เข้าร่วมแสดงความ จงรักภักดี สามัคคีปกป้องสถาบันของชาติภายใต้โครงการ ปลุกจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดินครั้งที่ 5 ของ กองทัพบก โดยกรมกิจการพลเรือนทหารบก เสริมสร้างพลังขับเคลื่อนสังคมไทย ให้มีความตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบของคนไทยพึงมีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
     กิจกรรมครั้งนี้ได้รับกระแสตอบรับจากประชาชนทั่วประเทศทั้งระดับประถม-มัธยมต้น มัธยมปลาย อุดมศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปนับตั้งแต่ประชาสัมพันธ์โครงการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมากระทั่งปิดรับผลงานวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559  มีจำนวนผู้ส่งผลงานความเรียงกว่า 2,500 ราย 
     อาจารย์ทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการ นักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินผลการประกวดความเรียง กล่าวว่า การประกวดความเรียง คนทั่วไปจะนึกถึงการเขียนเรียง ความส่งครู ซึ่งจะเป็นการตีกรอบมากเกินไป  ในจำนวนงานเขียนที่ส่งเข้ามา บางคนไม่พูดถึงสถาบันอะไรเลย แต่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเข้ามาในรอบสุดท้าย เพราะสามารถตีความตามโจทย์ได้ตรงประเด็น เนื่องจากกิจกรรมการประกวดครั้งนี้ ต้องการ ปลุกเร้าการทำดีเพื่อชาติ ทำดีเพื่อสังคมส่วนร่วม ทำดีเพื่อสถาบันต่างๆ ของชาติทุกสถาบัน ฉะนั้นการแสดงออกถึงพลังนั้น บางทีไม่จำเป็นต้องเอ่ยชื่อสถาบันเลยก็ได้ แต่สามารถปลุกเร้าให้เกิดความรู้สึกอยากทำความดีเพื่อสังคม ต้องจับแก่นของการประกวดความเรียงได้ถูกต้อง การเขียนเรียงความไม่ใช่การอธิบายความ  ต้องมีจินตนาการ มีอิสระในการนำเสนอ

     ด้านนายชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต นักคิด นักเขียน และวิทยากร กล่าวว่าการจะเป็นนักเขียนที่ดีได้ก็ต้องเป็นนักอ่านและเขียนในเรื่องที่คุณรู้ คนเก็บขยะอาจจะสร้างสรรค์งานเขียนในมุมมองที่เขาสัมผัสอย่างลึกซึ้งได้ดีกว่าอาชีพอื่น บางคนอาจจะเขียนถึงทะเลได้ดี  บางคนเขียนถึงแม่น้ำได้ บางคนเขียนถึงสังคมหนึ่งได้ชัดเจน สะท้อนพื้นฐานที่เขาอยู่  ประกอบกับความสนใจอ่านหนังสือมากน้อยแค่ไหน  ดังนั้นเสน่ห์ของคนที่ได้รางวัลคือเขามองการแสดงออกถึงความจงรักภักดี ต่อสถาบันของชาติได้แตกต่างจากกรอบความคิดเดิมๆ 
     ส่วนอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2536 กวีรางวัลซีไรต์และสมาชิกสภาการปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า การประกวดความเรียงในครั้งมีมีผู้ส่งผลงานเข้ามาเป็นจำนวน มากกว่า 2,500 ผลงาน คณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือก เหลือแต่ละระดับ 30 ผลงาน ทั้งระดับประถม-มัธยมต้น ระดับมัธยมปลาย ระดับอุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป ฉะนั้นผลงานที่ได้รับการคัดเลือกต้องสามารถจับประเด็นของเรื่องได้ และมีลีลาการนำเสนอได้อย่างมีศิลปะของการเรียงความ คือ มีทั้งความรู้ และความเข้าใจ และสามารถถ่ายทอดได้อย่างเข้าถึงจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดิน รู้แค่ไหนเราก็เขียนแค่นั้น อย่าไปเขียนให้มันเกินจริง และงานเขียนของเรานั้นควรจะสะท้อนให้เห็นถึงที่มาของเรื่องที่เราจะเขียนด้วย
     สำหรับผู้ส่งผลงานความเรียงเข้าร่วมกิจกรรมปลุกนักเขียนประชันความสามารถเพื่อชาติชิง รายใดจะชนะใจกรรมการได้นั้น อดใจรอลุ้นการประกาศผลการตัดสินรางวัลที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้
     ผู้สนใจสามารถรับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมและติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการได้ที่ www.thailandwakeup.com และเข้ามาเป็นเพื่อนกับ Facebook :Thailandwakeup