ADS


Breaking News

เสนอเร่งรัดแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อรองรับ WTO TFA พร้อมพัฒนาระบบ FLUX ตามแนวทาง UN/CEFACT ... เพื่อประเทศไทย รอดใบแดง!!!

     นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก แถลงข่าวร่วมกับนายไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาคณะกรรมการสภาผู้ส่งออก นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งออก นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งออก และ ดร. รติดนัย หุ่นสวัสดิ์ ที่ปรึกษาโครงการดัชนีการส่งออก เกี่ยวกับสถานการณ์ส่งออกในเดือนมีนาคม และภาพรวมของปี 2559 ณ โรงแรมแมนดาริน ถนนพระราม 4 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ว่ามูลค่าการส่งออกในเดือนมีนาคม 2559 ยังได้รับอิทธิพลจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์แต่หากคิดมูลค่าการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปเท่ากับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว จะทำให้การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีมูลค่าเท่ากับ 18,680.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือหดตัว -1.05% และเมื่อหักอิทธิพลของการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปและอาวุธยุทโธปกรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ออกไป จะทำให้การส่งออกของไทยในไตรมาส 1 หดตัวที่ -4.46%

     ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออก ยังคงเป้าหมายการส่งออกปีนี้ไว้ที่ 0-2% เนื่องจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกลงจาก 3.4% เป็น 3.2% โดยเป็นการปรับลดในส่วนของประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลักแต่เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ดีขึ้น โดยการเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศจะทำให้เกิดผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนของประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่องค์การการค้าโลก (WTO) ยังคงระดับการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศไว้ที่ 2.8% เท่ากับปีที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่า 3% ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 5 โดยการส่งออกของประเทศกำลังพัฒนายังคงเป็นหัวจักรสำคัญ อย่างไรก็ตาม องค์การการค้าโลกคาดว่าการค้าระหว่างประเทศได้ก้าวมาสู่จุดต่ำสุดและมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น

     อนึ่ง เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามีทิศทางการเติบโตอย่างเข้มแข็งที่สุด แม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกอาจไม่สู้ดี เพราะยังใช้กำลังการผลิตไม่เต็มประสิทธิภาพ แต่ได้รับแรงสนับสนุนจากตลาดแรงงานทั้งในส่วนของการจ้างงานและค่าจ้าง ขณะที่ตลาดเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่สถานการณ์ของสหภาพยุโรปกลับไม่สู้ดีนัก เพราะเหตุการณ์ก่อการร้าย และการพิจารณาของอังกฤษเพื่อออกจากสหภาพยุโรป เป็นเหตุผลสำคัญในการฉุดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เมื่อผนวกกับค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจของยุโรปจะขยายตัวได้ 1.5% ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาเช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่โดนแรงกดดันจากภาคการผลิตและการส่งออกที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง และผนวกกับสถานการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดที่เป็นปัจจัยลบต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น จะประกาศดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมอีกในปีนี้อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตของประเทศจีนได้เริ่มแสดงการฟื้นตัว โดยค่าดัชนีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 8 เดือน ขณะที่ค่าเงินหยวนเริ่มมีเสถียรภาพและได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้น เพราะมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง มีมาตรการควบคุมเงินทุนไหลออก และประกาศไม่เข้าแทรกแซงค่าเงินหรือลดค่าเงิน ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะสามารถขยายตัวได้ 6.5% เป็นอย่างน้อย


     ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2559 ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการแข็งค่าของเงินบาทซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาครองจากฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ขณะที่การแข่งขันในตลาด CLMV สูงมากขึ้น จนทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังตลาด CLMV ในช่วง 3 เดือนแรกหดตัว -3.99% จากที่เคยเติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อผนวกกับปัญหาความขัดแย้งในระหว่างประเทศซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ปัญหามาตรฐานสินค้า และปัญหาเศรษฐกิจในหลายประเทศ จึงคาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2559 จะยังไม่สดใสเหมือนอย่างตัวเลขที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา

     ประเด็นหลักประการหนึ่งที่ส่
งผลต่อการส่งออกไทยคือ การแข่งขันทางการค้าโดยใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีมาเป็นเครื่องมือในการกีดกันสินค้าไทย ซึ่งรวมถึง กรณีของมาตรการ Illegal, Unreported and Unregulated (IUU) Fishing ที่เป็นประเด็นร้อนสำหรับประเทศไทยในขณะนี้ รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานซึ่งกำหนดโดยองค์การระหว่างประเทศภายใต้องค์การ สหประชาชาติ ซึ่งสภาผู้ส่งออก ได้เข้าร่วมการประชุม 22nd UN/CEFACT Plenary และ 27th UN/CEFACT Forum ระหว่างวันที่ 21-29 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดย UN/CEFACT หรือ the United Nations Centre for Trade Facilitation and Electronic Business เป็นหน่วยงานภายใต้ UNECE หรือ the United Nations Economic Commission for Europe และองค์การสหประชาชาติ ซึ่ง UN/CEFACT มีหน้าที่รับผิดชอบในการปรับปรุงมาตรฐานธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศให้ง่ายและเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเชื่อมโยงอย่างครบวงจรในลักษณะ Buy-Ship-Pay ตั้งแต่การซื้อขาย การขนส่ง ไปจนถึงการชำระเงินค่าสินค้า เพื่อตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจัดทำคำแนะนำและมาตรฐานทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับส่วนย่อยเพื่อให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกนำไปประยุกต์ใช้และมีส่วนร่วมในการพัฒนาผ่านคณะทำงานซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการ ปฏิบัติจริงในแต่ละ Business Domain อาทิ Agriculture, Health Care, Travel & Tourism, Transport & Logistics, Supply Chain, International Trade Procedures เป็นต้น

     ในการนี้ คณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุม ได้มีโอกาสพบปะกับผู้แทนจากประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของ UN/CEFACT ตามกรอบความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO TFA: WTO Trade Facilitation Agreement) ตลอดจนแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ของสหภาพยุโรปในการพัฒนาระบบ FLUX (Fisheries Language for Universal Exchange) เพื่อรองรับมาตรการ IUU รวมถึงได้นำเสนอแนวทางของประเทศไทย ซึ่งมีข้อสรุปแนวทางที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งต้องเร่งรัดดำเนินงานทั้งในระดับนโยบายและประเด็นเฉพาะเรื่องประกอบไปด้วย 
1) ประเทศไทยต้องเร่งรัดจัดตั้ง “คณะกรรมการอำนวยความสะดวกทางการค้าของประเทศ” ตามแนวทางใน Recommendation No.4 ของ UNECE เพื่อให้มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงในการสั่งการ ประสานงาน และบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าตามแนวทางของ WTO TFA และผลักดันให้ประเทศไทยมีการปฏิบัติตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ 
2) กำหนดยุทธศาสตร์การอำนวยความสะดวกทางการค้าของไทยและต้องศึกษา Gap Analysis การดำเนินงานตาม Recommendation ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลกและมาตรฐานของ UN/CEFACT 
3) ต้องเร่งรัดพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศตามแนวทางของระบบ “FLUX” ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาของสหภาพยุโรป และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2018 เพื่อตอบสนองต่อมาตรการ IUU เป็นการแสดงให้สหภาพยุโรปเห็นถึงความตั้งใจของประเทศไทย และพิจารณาให้ประเทศไทยรอดพ้นจากใบแดงใน เรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องจับมือกับชาติพันธมิตรในเอเชียแปซิฟิกเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน 
4) ต้องศึกษาและดำเนินการเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับรองรับมาตรการชั่งน้ำหนักตู้สินค้า ตามแนวทางของระบบ “VERMAS” เพื่อให้การปฏิบัติของไทยมีความชัดเจนและสอดคล้องกับสากล และ 
5) ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญและจัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมและมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในคณะทำงานของ Business Domain ในทุกสาขาเพื่อให้สามารถติดตามความคืบหน้า นำเสนอแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้การกำหนดมาตรฐานและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสอดคล้องกับการดำเนินงานของประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาระบบและมาตรฐานภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศอย่างทันท่วงที และหลีกเลี่ยงการเผชิญปัญหาจากมาตรการกีดกันทางการค้าอื่่นในอนาคต.