ADS


Breaking News

กรมปศุสัตว์และภาคีเครือข่าย ร่วมกับองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE จัดประชุมนานาชาติด้านการศึกษาทางสัตวแพทย์ ครั้งที่ 4

ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 22 – 24 มิถุนายน 2559
กรมปศุสัตว์และภาคีเครือข่าย เตรียมจัดประชุมนานาชาติด้านการศึกษาทางสัตวแพทย์ ครั้งที่ 4 ร่วมกับองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE เพื่อร่วมกันพัฒนาความเข้มแข็งของการศึกษาทางด้านวิชาการสัตวแพทย์ เพราะการศึกษาเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความยั่งยืนในการปรับปรุงงานด้านสัตวแพทย์บริการ (Veterinary Services) ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งงานด้านสัตวแพทย์บริการนี้ถือได้ว่าเป็นสินค้าสาธารณะของนานาประเทศ (global public good) ที่มีส่วนทำให้ประชากรทั่วโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ในงานแถลงข่าวการจัดประชุมนานาชาติด้านการศึกษาทางสัตวแพทย์ ครั้งที่ 4 (4th OIE Global Conference on Veterinary Education) ในวันพุธที่ 18 พฤษภาคม 2559 นายสัตวแพทย์สรวิศ  ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และโฆษกกรมปศุสัตว์  เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติด้านการศึกษาทางสัตวแพทย์ ครั้งที่ 4 (4th OIE Global Conference on Veterinary Education) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 - 24 มิ.ย.2559  ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยกรมปศุสัตว์  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE มหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนคณะสัตวแพทย์ สัตวแพทยสภา และสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการประชุมครั้งนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ทางด้านวิชาการทาง สัตวแพทย์ และการปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีความก้าวหน้า ก้าวทันกับยุคสมัยในปัจจุบัน รวมทั้งการนำข้อแนะนำของ OIE ด้านการศึกษาสัตวแพทย์มาประยุกต์ใช้ในหลักสูตร เพื่อให้เกิดศักยภาพสูงสุดต่อวิชาชีพสัตวแพทย์ เป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเข้มแข็งของงานสัตวแพทย์บริการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 180 ประเทศทั่วโลก ประมาณ 500 – 600 คน
โดยในการประชุมครั้งนี้ มีหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น “ความก้าวหน้าของการศึกษาด้านสัตวแพทย์ในระดับโลก” (Veterinary Education: Global Progress) “สถาบันการศึกษาทางสัตวแพทย์จะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างไร จึงจะสามารถผลิตบัณฑิตสัตวแพทย์ที่มีขีดความสามารถตามที่กำหนด รวมถึงหลักสูตรหลักที่ใช้ในการศึกษาสัตวแพทย์ (How to support VEEs to implement Day 1 Competencies and the Model Core Curriculum)  “การพัฒนาทักษะอื่นที่จำเป็น เช่น การเป็นผู้นำ การสื่อสาร เศรษฐศาสตร์ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Improving other important skills such as leadership, communication, economics and lif-long learning) และ “หลักปฏิบัติที่ดีในการเรียนการสอนในยุคข้อมูลข่าวสาร” (Best teaching practices in the information age) เป็นต้น
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมีแนวโน้มการเกิดโรคอุบัติใหม่ที่ติดต่อจากสัตว์           เพิ่มมากขึ้น สัตวแพทย์ต้องศึกษาค้นคว้าหาความรู้ เพิ่มเติมตลอดเวลา ทั้งต้องทราบถึงสาเหตุของโรค อาการของโรค ต้องรู้หลักการ และแนวทางในการป้องกันการเกิดโรค สัตวแพทย์ต้องมีศักยภาพในการควบคุมโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน การแก้ไขปัญหาสารตกค้าง สิ่งปนเปื้อน ในอาหารที่ได้มาจากสัตว์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน


“กรมปศุสัตว์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมระดับโลกครั้งนี้ จะช่วยให้การพัฒนาด้านการเรียนรู้เชิงวิชาการทางวิชาชีพสัตวแพทย์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งการยกระดับความรู้ และจรรยาบรรณของวิชาชีพ โดยเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้ประชุมหารือ เพื่อพัฒนาการศึกษาด้านสัตวแพทย์ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ ในการพัฒนาบทบาทหน้าที่ของสัตวแพทย์ ของนานา ประเทศ ให้มีมาตรฐานในระดับเดียวกัน” นายสัตวแพทย์สรวิศ  กล่าว
ทางด้าน ดร. โรเนลโล ซี. อบิลา ผู้แทนหน่วยงานองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Dr. Ronello C. Abila, OIE Sub-Regional Representative for South-East Asia) เปิดเผยว่าการสร้างความเข้มแข็งให้กับการศึกษาด้านสัตวแพทย์เป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่จะช่วยสร้างการพัฒนาการด้านปศุสัตว์อย่างยั่งยืนให้กับโครงสร้างทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน สัตวแพทย์ มีบทบาทในการขับเคลื่อนการผลิตสัตว์บก และสัตว์น้ำ เป็นผู้ควบคุมความปลอดภัยด้านอาหาร ทั้งยังต้องมีหน้าที่ร่วมมือป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งโรคดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบในวงกว้างไปทั่วโลก เช่น เหตุการณ์โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Middle East Respiratory Syndrome) ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ รวมถึงโรคระบาดอีโบล่า โรคไข้หวัดนก ซึ่งโรคเหล่านี้มีผลกระทบอย่างร้ายแรงกับสุขภาพของมนุษย์
ที่ผ่านมาองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้มีการจัดการประชุมนานาชาติด้านการศึกษา              ทางสัตวแพทย์โลก มาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2552  การประชุมครั้งที่ 2 จัดขึ้นในปี 2554 ที่ เมืองลีออง ประเทศฝรั่งเศส สำหรับครั้งที่ 3 จัดที่เมืองฟอสโดอีกวาซู (Foz de Iguazu) ประเทศบราซิล ทวีปอเมริกาใต้ ในปี 2556 และในปีนี้ประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลกได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ
การประชุมในปีนี้ จะมีการติดตามความคืบหน้าของผลการประชุมครั้งที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันของการศึกษาด้านสัตวแพทย์ทั่วโลก รวมถึงการปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ด้านขีดความสามารถของบัณฑิตสัตวแพทย์  และหลักสูตรหลักของการศึกษาด้านสัตวแพทย์
จะมีการหารือเรื่องโครงการจับคู่ (OIE Twinning Programme) ของสถาบันการศึกษาทางสัตวแพทย์ และการจับคู่ของสัตวแพทยสภา ในประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น อันจะนำไปสู่พัฒนาการด้านการศึกษาที่เท่าเทียมกัน รวมทั้งการใช้การประเมินสมรรถนะของงานสัตวแพทย์บริการ (OIE PVS Pathway) มาประกอบในประเมินคุณภาพการศึกษาด้านสัตวแพทย์ของประเทศ ก็จะช่วยให้เกิดการปรับปรุงด้านธรรมาภิบาลดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังจัดให้มีเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับการศึกษาด้านสัตวแพทย์ โดยการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นหนาขึ้นระหว่างสัตวแพทยสมาคม สถาบันการศึกษาทางสัตวแพทย์ และสัตวแพทยสภา  มีการทบทวนการฝึกฝนด้านการสอนด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการปรับปรุงการเข้าถึงเครือข่ายระดับโลก เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียว ” ดร. โรเนลโล กล่าว