ADS


Breaking News

เปิดตัวโครงการ ‘Safe Software, Safe Nation’ เร่งลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ต้นตอภัยไซเบอร์

กรุงเทพฯ 11 มีนาคม 2559 – การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสสูงที่จะเผชิญกับภัยและความเสี่ยงบนโลกไซเบอร์ ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศ ประชาชน และองค์กรธุรกิจ  เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมบนโลกไซเบอร์ของประเทศไทยให้มีความมั่นคงปลอดภัยและเพื่อป้องกันภัยและลดความเสี่ยงบนโลกไซเบอร์ การใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิจะต้องหมดไป


โครงการ “Safe Software, Safe Nation” เป็นโครงการระดับประเทศที่จัดทำขึ้นเพื่อลดการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ควบคู่ไปกับการป้องกันภัยและลดความเสี่ยงบนโลกไซเบอร์ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย  ทั้งนี้ ในอนาคตคาดหวังว่าจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมสนับสนุนโครงการนี้ต่อไป
การให้ความรู้เป็นส่วนสำคัญของโครงการ Safe Software, Safe Nation  ดังนั้น โครงการนี้จึงมีการให้คำแนะนำและแนวทางปฎิบัติสากลเรื่องการใช้และบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ เพื่อปกป้ององค์กรธุรกิจและประชาชนทั่วไปจากการถูกมัลแวร์โจมตี ภัยและความเสี่ยงอื่นๆ  โครงการนี้ยังจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมบนโลกไซเบอร์ที่ถูกกฎหมาย และมีความมั่นคงปลอดภัย
นายทศพล ทังสุบุตร รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า "เราสนับสนุนโครงการ Safe Software, Safe Nation และจะประสานการทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมายและมีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ  โครงการนี้ยังจะส่งเสริมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อส่งเสริมความน่าเชื่อถือของประเทศไทย พร้อมๆ กับการส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์"
โครงการ Safe Software, Safe Nation เกิดขึ้นตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กล่าวว่า "ไม่ซื้อ ไม่ใช้ และไม่ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เป็นแนวทางที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหานี้"  และเพื่อป้องกันภัยและลดความเสี่ยงบนโลกไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงปลอดภัยของชาติ  ปีที่ผ่านมา การโจมตีเว็บไซต์ของรัฐบาลไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 30
พ.อ.ต.กิตติศักดิ์ ปลาทอง รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าวว่า "การใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายและมีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นหนึ่งในขั้นตอนลำดับต้นๆ ที่จะเพิ่มความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์  นอกจากนี้ ยังต้องมีการสร้างความตระหนักรู้ การฝึกอบรมและให้ข้อมูลเพื่อให้องค์กรธุรกิจและประชาชนทั่วไปสามารถปกป้องตนเองและองค์กรได้"


หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เพิ่มความพยายามอย่างมาก เพื่อลดการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในองค์กรธุรกิจและประชาชน  ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนที่อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลดลงเร็วที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน ประมาณร้อยละ 71 ของซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในประเทศไทยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิอย่างถูกต้อง


"เราจำเป็นต้องลดการใช้ซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายและไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิให้มากกว่านี้  ร้อยละ 71 ยังถือว่าสูงอยู่เมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยที่ร้อยละ 62 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก  ระดับของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่สูงดังกล่าวในประเทศไทยถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของชาติ ความน่าเชื่อถือของการทำธุรกิจและการค้าในประเทศไทย และสวัสดิภาพของประชาชน  เราต้องลดการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในองค์กรธุรกิจ รวมถึงปราบปรามการขายซอฟต์แวร์เถื่อนและซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์”


ตำรวจ บก.ปอศ. จะเพิ่มความพยายามที่จะให้ข้อมูลแก่ผู้นำองค์กรธุรกิจเกี่ยวกับภัยและความเสี่ยงของการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ พร้อมกับเพิ่มความเข้มข้นในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจ


มีหลักฐานจำนวนมากที่แสดงว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งซอฟแวร์ผิดกฎหมายและไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ จะมีความเสี่ยงต่อการถูกมัลแวร์โจมตี


การศึกษาของไอดีซี (IDC) พบว่าค่าความสัมพันธ์ที่สูงถึง 0.79 ระหว่างการใช้ซอฟแวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิกับโอกาสที่จะถูกมัลแวร์โจมตี  ค่าความสัมพันธ์ดังกล่าวสูงกว่าค่าความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับการศึกษาและการมีรายได้ที่ 0.77


ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA พบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกโจมตีบนโลกไซเบอร์ เป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซีย ในปีที่ผ่านมามีการโจมตีมากถึง 4,300 เหตุการณ์ โดยร้อยละ 35 ถูกกระทำจากซอฟต์แวร์ประสงค์ร้าย หรือ Malicious Software ร้อยละ 26 เป็นเรื่องการหลอกให้โอนหรือชำระเงิน และร้อยละ 23 เป็นเรื่องการเจาะเข้าสู่เครือข่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต


ในแต่ละสัปดาห์  มีบริษัทจำนวนมากรายงานความเสียหาย เนื่องจากอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ และการหลอกให้โอนหรือชำระเงินบนโลกไซเบอร์เป็นจำนวนเงินหลายล้านบาท  ทุกสัปดาห์อาชญากรรมทางไซเบอร์ที่สำคัญมุ่งโจมตีองค์กรธุรกิจภาคเอกชน บ่อยครั้งที่มุ่งเป้าไปยังผู้ส่งออกที่ทำธุรกรรมการเงินจำนวนมาก แต่ไม่มีการควบคุมเพื่อให้แน่ใจว่าซอฟต์แวร์ของตนทั้งหมดที่ใช้อยู่ในองค์กรของตนถูกต้องตามกฎหมายและปลอดภัย  ธนาคาร ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วจะลงทุนในเรื่องการป้องกันภัยและลดความเสี่ยงบนโลกไซเบอร์ ยังต้องออกมาให้ข้อมูลแก่ลูกค้า เช่น ขอให้หยุดทำธุรกรรมออนไลน์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนและละเมิดลิขสิทธิ์
นอกจากองค์กรธุรกิจแล้ว ธนาคารต่างๆ เผชิญหน้ากับภัยคุกคามโดยตรงจากอาชญากรไซเบอร์ด้วยเช่นกัน  ปีที่ผ่านมา กลุ่มของอาชญากรไซเบอร์พยายามที่จะเรียกร้องเอาเงินจากธนาคารไทยหลายแห่ง เพื่อแลกกับข้อมูลของธนาคารที่ถูกเก็บไว้เป็นเสมือนตัวประกัน ทำให้ธนาคารไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้  ธนาคารได้ผ่านการทดสอบการรักษาความปลอดภัยแล้ว แต่ภัยคุกคามต่อภาคธุรกิจจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“องค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ มีการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบ โดยทำให้คู่ค้าและพนักงานตกอยู่ในความเสี่ยง ผู้บริหารต้องทำให้มั่นใจว่าองค์รกรใช้แต่ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายและมีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเท่านั้น รวมถึงมีการบริหารจัดการที่ดี  เช่นกันกรมทรัพย์สินทางปัญญาขอแนะนำให้ประชาชนใช้และติดตั้งซอฟแวร์แท้เท่านั้นบนเครื่องคอมพิวเตอร์ของตน เพื่อไม่ให้เกิดโอกาสเสี่ยงที่จะสูญเสียข้อมูลการเงินและข้อมูลส่วนบุคคลไป โดยนอกจากนี้ ขอให้ช่วยแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับผู้ขายซอฟแวร์เถื่อนและซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย"
นายทศพล กล่าว
นายสมพร มณีรัตนะกูล นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) กล่าวว่า “อาชญากรไซเบอร์บางครั้งพบช่องโหว่ในซอฟต์แวร์ และหากไม่ได้รับเครื่องมือช่วยอุดช่องโหว่ (Patch) แล้ว คอมพิวเตอร์จะมีความเสี่ยงต่อการถูกมัลแวร์โจมตี องค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ จะไม่สามารถขอรับความช่วยเหลือที่ถูกต้องตามกฎหมายจากผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ได้"


"มัลแวร์ถูกใช้ทำหน้าที่เป็นเหมือนสายลับ หรือสปายแวร์ (Spyware) ได้ และจะรายงานข้อมูลสำคัญ ความลับทางการค้า ข้อมูลการเงิน และข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานไปให้อาชญกรไซเบอร์" นายสมพร กล่าว


โครงการ Safe Software, Safe Nation จะสร้างความตระหนักรู้และให้ความรู้เรื่องการถูกมัลแวร์โจมตี และความเสี่ยงอื่น ในกรณีที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ  มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้นำองค์กรธุรกิจและประชาชนทั่วไป  เช่นเดียวกันจะให้คำแนะนำและวิธีการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลเรื่องการใช้และบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์
ทรัพย์สินทางปัญญามีความสำคัญมากสำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ในปีที่ผ่านมา บก.ปอศ. พบองค์กรธุรกิจทั้งหมด 214 แห่งใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ มูลค่าความเสียหายร่วม 500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปี 2557  สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าองค์กรธุรกิจและผู้บริหารจำเป็นต้องเข้าใจกฎหมายลิขสิทธิ์ให้มากขึ้น รวมถึงบทลงโทษทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องและผลกระทบต่อธุรกิจ

“การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อประเทศชาติ ประชาชน และองค์กรธุรกิจ  ดังนั้น ความรับผิดชอบร่วมกันโดยหันมาใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายและมีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ จะช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคงและปลอดภัย” นายทศพล กล่าว

โครงการรณรงค์ระดับประเทศประจำปี 2559
หัวข้อ ‘Safe Software, Safe Nation’ ปกป้องประเทศไทย จากภัยไซเบอร์
(2016 National Public Awareness Campaign)


เกี่ยวกับโครงการ
  • โครงการรณรงค์ระดับประเทศประจำปี 2559 หัวข้อ ‘Safe Software, Safe Nation’ จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายและมีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ควบคู่ไปกับการป้องกันภัยและลดความเสี่ยงบนโลกไซเบอร์ที่เกิดจากการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ  เป็นโครงการที่สนับสนุนการแก้ปัญหาและลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย  ปัจจุบันการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในประเด็นของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังส่งผลกระทบในประเด็นของสิ่งแวดล้อมด้านความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ (Cyber Security Environment)   


  • โครงการนี้จะเน้นเรื่องการป้องกันภัยและลดความเสี่ยงบนโลกไซเบอร์ เป็นเหตุผลหลักในการชักจูงให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ทั้งในระดับองค์กรและประชาชนทั่วไป ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายและมีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และเน้นเรื่องความร้ายแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภัยและความเสี่ยงบนโลกไซเบอร์ที่มีต่อประเทศ ตัวผู้ใช้คอมพิวเตอร์ และธุรกิจ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการแก้ปัญหาและลดการละเมิดลิขสิทธิซอฟต์แวร์     


  • โครงการนี้จะใช้สื่อประชาสัมพันธ์ทางตรง ทั้งสื่อดิจิตอลและโซเชียลมีเดีย รวมถึงสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปของสิ่งพิมพ์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยและความเสี่ยงต่างๆ เช่น การถูกมัลแวร์จู่โจม รูปแบบต่างๆ ของอาชญกรรมบนโลกไซเบอร์ ในกรณีที่ใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์  จะเน้นให้เห็นภาพความร้ายแรงของผลกระทบ  โครงการนี้จะให้คำแนะนำและแนวทางปฏิบัติสากล รวมถึงการจัดการฝึกอบรมเรื่องการใช้และบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะสำหรับองค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย เพื่อป้องกันภัยและลดความเสี่ยงบนโลกไซเบอร์ดังกล่าวข้างต้น  นอกจากนี้ จะมีการรณรงค์เพื่อลดการขายซอฟต์แวร์เถื่อนและซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ รวมถึงการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์เถื่อนและซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของลูกค้า
  • ‘Safe Software, Safe Nation’ คือ โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญกรรมทางเศรษฐกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ทั้งนี้ ในอนาคตคาดหวังว่าจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมสนับสนุนโครงการนี้ต่อไป


  • เปิดตัวโครงการรณรงค์ระดับประเทศประจำปี 2559 หัวข้อ “Safe Software, Safe Nation” (2016 National Public Awareness Campaign: “Safe Software, Safe Nation)ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559 โครงการนี้จะใช้ระยะเวลา 6 เดือน โดยจะมีการประเมินผลของโครงการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่ร่วมกันสนับสนุนและดำเนินโครงการนี้ เพื่อปรับกลยุทธ์สำหรับครึ่งปีหลังของปี 2559


  • กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ คือ ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั้งในระดับองค์กรธุรกิจและประชาชนทั่วไป และผู้ขายซอฟต์แวร์เถื่อนและซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์  
ข้อเท็จจริงที่สนับสนุนความจำเป็นของโครงการฯ

  1. การศึกษาของไอดีซี ในปี 2556 พบว่ามีการใช้งานซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในองค์กรธุรกิจสูงถึงร้อยละ 71  สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียที่ร้อยละ 62  
  2. การศึกษาของไอดีซีในปี 2558 พบค่าความสัมพันธ์ที่สูงมากถึง 0.79 ระหว่างการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิกับการถูกมัลแวร์จู่โจม ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่และโรคมะเร็งปอด (0.72) และค่าความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับรายได้ (0.75)
  3. ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA พบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์เป็นอันดับที่สองในอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย ในปีที่ผ่านมามีการโจมตีถึง 4,300 เหตุการณ์โดยร้อยละ 35 มาจาก Malicious Code เช่น มัลแวร์ ไวรัส เป็นต้น
  4. ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย หรือ ThaiCERT รายงานว่า ประเทศไทยถูกจู่โจมด้วยภัยออนไลน์มากเป็นอันดับ 3 ของโลก และพบว่าคอมพิวเตอร์ 3 ล้านเครื่องจาก 8 ล้านเครื่องในประเทศไทย มีมัลแวร์ประเภทบ็อทเน็ตซ่อนอยู่ เพื่อทำให้แกะรอยผู้จู่โจมได้ยาก
  5. การศึกษาของเอฟบีไอประเมินว่าขณะนี้มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมไซเบอร์นั้นสูงกว่ามูลค่าความเสียหายจากอาชญากรรมเกี่ยวกับยาเสพติด การค้าประเวณี การค้าของเถื่อน และอาชญากรรมในรูปแบบอื่นๆ  สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ เมื่อใดก็ตามที่เกิดการโจมตีทางไซเบอร์ ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้