ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ผนึกความร่วมมือ สานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐาน
และการพัฒนาผู้นำ
ขับเคลื่อนและยกระดับมาตรฐานการศึกษา
นำร่องโรงเรียนต้นแบบประชารัฐ 7,424 แห่ง ทุกตำบล ทั่วประเทศ
ภาครัฐ โดยกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาคเอกชน นำโดย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และภาคประชาสังคม รวมทั้งสิ้นกว่า 25 องค์กร ร่วมตอบสนองนโยบายประชารัฐ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ
โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับมาตรฐานการศึกษาของประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบสารสนเทศ การเปิดเผยข้อมูลการศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอน การพัฒนาผู้นำสถานศึกษา บุคลากรครู ให้มีคุณลักษณะและสมรรถนะความเป็นผู้นำ ทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนการสร้างแรงจูงใจและกลไกการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง และชุมชน พร้อมนำประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาเทคโนโลยีแห่งอนาคตในระดับภูมิภาค โดยนำร่องพัฒนาโรงเรียนต้นแบบประชารัฐ ทุกตำบล 7,424 แห่ง ก่อนขยายผลต่อไปทั่วประเทศ มั่นใจสามารถวางรากฐานการศึกษาของประเทศให้มั่นคงยื่งขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งจะนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ของการพัฒนาประเทศ
พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ กล่าวว่า การพัฒนาการศึกษาเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งปัจจุบันการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยยังประสบปัญหาอยู่หลายด้าน อาทิ การจัดทำหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ในสถานศึกษา ครูบางส่วนขาดเทคนิคการสอน ปัญหาการขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้นในโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนบางแห่งสามารถเข้าถึงสื่อสาระการเรียนรู้ได้อย่างจำกัด ผู้บริหารสถานศึกษาบางส่วนยังไม่สามารถบริหารโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ กระทรวงศึกษาธิการเป็นองค์กรขนาดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไปทำได้ช้า การที่รัฐบาลมีโครงการความร่วมมือประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนที่สำคัญ เช่น การระดมสมอง ทรัพยากร และสรรพกำลัง จากทุกภาคส่วนมาช่วยกันพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ตามศักยภาพของโรงเรียน การให้ทุกโรงเรียนมีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วและความเสถียร เพื่อให้สามารถเข้าถึงสาระการเรียนรู้ที่มีอยู่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสำรวจความต้องการทรัพยากรที่จำเป็นในการยกระดับการศึกษา ซึ่งทั้งภาครัฐ เอกชน และที่สำคัญภาคประชาสังคม จะได้ร่วมกันให้กันสนับสนุนต่อไป โดยภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่มาช่วยสนับสนุนในครั้งนี้ นอกจากเป็นการช่วยเหลือสังคมแล้ว รัฐก็จะสนับสนุนในเรื่องการลดหย่อนภาษีด้วย ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการและภาคเอกชนได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมดำเนินการแบบเต็มเวลาเพื่อขับเคลื่อนภารกิจนี้โดยเฉพาะ ขณะเดียวกันในระดับพื้นที่ กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการในทุกเขตพื้นที่จำนวน 225 ศูนย์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นที่ปรึกษา และพร้อมที่จะเชิญทุกภาคส่วน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำอีกด้วย
ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า บทบาทของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ต่อโครงการประชารัฐนี้ ได้แก่ การจัดทำและเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศของสถานศึกษาในรูปแบบออนไลน์ และเรียลไทม์ การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการศึกษาและการบริหารจัดการสื่อ การติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อวางรากฐานระบบสื่อสารให้แก่โรงเรียน ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ก็จะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จเร็วขึ้น
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในฐานะกระทรวงที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคนเพื่อพัฒนาประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ โดยสนับสนุนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์รอบตัว การสร้างกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน การสร้างนักวิทยาศาสตร์ ตลอดจนมุ่งเน้นที่จะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนงานวิจัย ที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน กล่าวว่า ภาคเอกชนขอขอบคุณภาครัฐเป็นอย่างยิ่งที่เปิดโอกาสให้เข้าร่วมพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้โครงการประชารัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ซึ่งถือเป็นฐานหลักของการพัฒนาประเทศ พร้อมขอขอบคุณภาคประชาสังคม และภาคเอกชนทุกองค์กรที่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง ด้วยการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ จะส่งผลต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความเจริญในด้านต่างๆ ที่ผ่านมาภาคเอกชนหลายหน่วยงาน รวมทั้งกลุ่มทรูเอง ต่างให้ความสำคัญในเรื่องของการศึกษา และได้ดำเนินการสนับสนุนภาครัฐด้วยการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศในหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาโรงเรียน ครู ผู้นำสถานศึกษา หลักสูตร คู่มือการสอน จนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ การลงนามความร่วมมือครั้งนี้จึงนับเป็นนิมิตหมายที่ดีของวงการศึกษาไทย ในการรวบรวมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน ที่ต่างมีเจตนารมณ์สอดคล้องกันในการมุ่งมั่นสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการประชารัฐ เข้ามารวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถยกระดับการศึกษาของประเทศให้เป็นจริงได้ ภายใต้คณะทำงานกลุ่มย่อย ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชียวชาญด้านการศึกษาจากภาคส่วนต่างๆ มาร่วมกำหนดทิศทางกรอบการพัฒนาในทุกมิติ รวมทั้งการจัดทำโครงสร้างการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม 10 กรอบหลัก ได้แก่
- พัฒนาระบบข้อมูลการศึกษา ของโรงเรียนที่เปิดเผยสู่สาธารณะซึ่งจะเปิดโอกาสให้ ผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานต่างๆ และภาคเอกชนที่สนใจสามารถพิจารณาสนับสนุน และติดตามผลได้อย่างใกล้ชิด (Transparency & Monitoring & Evaluation)
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อให้สถานศึกษาได้เข้าถึงองค์ความรู้ และมาตรฐานการศึกษาจาก ทั่วโลก (Digital Infrastructure & High Standard Education Accessibility)
- พัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน การรวบรวมสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบอีเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการนำต้นแบบผลสัมฤทธิ์ของ การจัดการเรียนการสอนจากสถาบันชั้นนำ มาปรับใช้ในโรงเรียน (Curriculum, Teaching Technique & Manual)
- จัดการเรียนการสอนที่ฝึกให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง รู้จักคิดวิเคราะห์ และส่งเสริม คุณธรรม จริยธรรม และการมีจิตสาธารณะ (Health, Heart & Ethics)
- ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำและธรรมาภิบาลของผู้บริหารถานศึกษา และพัฒนาครูผู้สอนให้เป็นผู้แนะนำและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง (High Quality Principles & Teachers Leadership)
- สร้างแรงจูงใจให้กับผู้ปกครองและชุมชน ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน (Market Mechanism Engagement Parent & Community / Funds)
- เชิญชวนสถาบันการศึกษาและบุคคลากรทางการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ที่มีความเชี่ยวชาญ เข้าร่วมพัฒนาการศึกษา (Local & International Teachers & University Partnership & Incentive)
- ยกระดับทักษะความสามารถด้านภาษาอังกฤษของนักเรียน (English Language Capacity)
- พัฒนาและส่งเสริมผู้นำรุ่นใหม่ เข้าร่วมพัฒนาโรงเรียน (Young Leadership Development)
- การเตรียมหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการร่วมพัฒนาศูนย์การศึกษาเทคโนโลยีแห่งอนาคต ในระดับภูมิภาค เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนงานงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง (Technology Megatrends Hub & R&D)
ทั้งนี้ ความร่วมมือในการยกระดับการศึกษาของประเทศ จะเป็นการดำเนินการในลักษณะของการเป็นพันธมิตรกับโรงเรียน ซึ่งภาคเอกชนและภาคประชาสังคมจะนำกำลังคนซึ่งเป็นผู้นำรุ่นใหม่ เข้าร่วมลงพื้นที่สำรวจและวางแผนการดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนอย่างใกล้ชิดด้วยความสนับสนุนของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และคุณค่าให้แก่นักเรียนและชุมชนได้อย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป