ADS


Breaking News

สภาผู้ส่งออก แจง 2559 "หนุมานสู่ศึก" ปีแห่งความท้าทาย

สภาผู้ส่งออกพร้อมผนึกกำลังรัฐและเอกชนขับเคลื่อนประเทศ รับมือปี 2559 แห่งความท้าทาย
นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) แถลงข่าวร่วมกับนายไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งออก และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสภาผู้ส่งออก เกี่ยวกับสถานการณ์ส่งออก และความท้าทายในปี 2559 ณ ห้องประชุมสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เมื่อวันอังคารที่ 5 มกราคม 2559 ว่า การส่งออกในปี 2558 คงปิดฉากด้วยตัวเลขติดลบไม่น้อยกว่าร้อยละ 5.5 แม้ว่าจะดีกว่าอีกหลายประเทศทั่วโลก แต่ก็ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศหดตัวตาม ผู้ประกอบการรายย่อยที่เกี่ยวเนื่องอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของการส่งออกสินค้าและบริการหลายรายการ ตั้งแต่ปลายน้ำไปถึงต้นน้ำ รวมทั้งเกษตรกร ต้องประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและลุกลามไปถึงปัญหาสังคม ทำให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาระยะสั้นและพัฒนาการค้าระหว่างประเทศในระยะยาวควบคู่กันไปกับการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ
ปี 2559 สภาผู้ส่งออก คาดการณ์ว่า จะส่งออกได้ไม่เกิน 219,300 ล้านเหรียญสหรัฐ เฉลี่ยเดือนละ 18,275 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 2 ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศว่า จะส่งออกได้เท่าเดิมไม่เกิน 215,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เฉลี่ยเดือนละ 17,920 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะไม่มั่นใจในเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับที่สภาผู้ส่งออกมองว่า มีปัจจัยเสี่ยงที่ปรากฏเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ คือ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัวอย่างที่ไอเอ็มเอฟ (IMF) คาดการณ์ไว้ว่าจะโตร้อยละ 3.6 และการเงินโลกผันผวน ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศขยายวงเพิ่มขึ้น และภัยธรรมชาติที่เกิดถี่ขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้น แต่ก็ยังเชื่อว่า การส่งออกในปีนี้น่าจะทำได้ดีกว่าปีก่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงแรกของการปฏิรูปประเทศ 
ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออกขอสนับสนุนรัฐบาลให้เดินหน้าผลักดันการส่งออกให้เติบโตร้อยละ 5 ประมาณ 225,750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ เฉลี่ยเดือนละ 18,812.5 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าที่สภาผู้ส่งออกคาดการณ์ไว้ เพราะเป็นเป้าหมายและข้อผูกพันร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และ ประชาสังคม หรือที่เรียกว่า ประชารัฐ ตามที่กำหนดในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  ซึ่งจะช่วยผลักดัน การส่งออกของประเทศให้หลุดจากภาวะบันทัดฐานใหม่ (New Normal) กลับมาเติบโตเท่ากับหรือมากกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของการส่งออกของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เป็นตัวเลขที่ภาคเอกชนอยากเห็น แต่เกือบจะหมดความหวังไปแล้วกับการบริหารงานของรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา
เป้าหมายการส่งออกเติบโต ร้อยละ 5 ถือว่า มีความท้าทายอย่างมาก ภายใต้ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในอนาคต กอปรกับขีดความสามารถในการแข่งขันที่จำกัดและยังต้องพัฒนาอีกมากของภาครัฐและภาคเอกชนในปัจจุบัน แต่สภาผู้ส่งออกก็เห็นว่า มีความเป็นไปได้ หากมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้ คือ 
1) รัฐบาลได้ประกาศให้ การค้าระหว่างประเทศเป็นวาระแห่งชาติ ยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าระหว่างประเทศและเป้าหมายที่กำหนดอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลทั้งคณะที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ ไม่ใช่เป็นเพียงแผนงานและเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ อย่างที่ผ่านมา ทุกกระทรวงทำงานร่วมกันอย่างมีบูรณาการ ช่วยกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจให้แก่ภาคเอกชน 
2) มีการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ทุกยุทธศาสตร์เข้ากับแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 โดยจะต้องกำหนดระยะเวลา งบประมาณ และหน่วยงานผู้รับผิดชอบให้ชัดเจนและสอดคล้องกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และจะต้องมีการจัดทำแผนปฏิบัติการและโครงการต่างๆ อย่างละเอียดต่อไป 
3) มีกระทรวงต่างประเทศ เป็นหลักในการบูรณาการการค้าและการสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศให้สอดคล้อง เอื้อประโยชน์ต่อกัน และมีความเป็นเอกภาพ 
4) มีกระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ เพราะเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับตลาดและลูกค้ามากที่สุด
จึงถือว่า ปี 2559 เป็นปีแห่งความท้าทายที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องผนึกกำลังกันขับเคลื่อนประเทศ และรับมือกับความท้าทายอีกหลายประการที่เป็นทั้งความหวังและโอกาส หรืออาจเปลี่ยนเป็นปัญหาและภัยคุกคามได้เสมอ หากทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกันอย่างเป็นเอกภาพและดำเนินการอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศในอนาคต เช่น การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน, การเข้าร่วมหุ้นส่วนเศรษฐกิจ และข้อตกลงการค้าเสรี, การส่งเสริมการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ, การส่งออกสินค้าและบริการ, การยกระดับมาตรฐานทางการค้าและการอำนวยความสะดวกทางการค้า, การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และเศรษฐกิจดิจิทัล, ความคุ้มทุนของการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน, การสร้างความเข้มแข็งของภาคเอกชนในห่วงโซ่คุณค่า, การพัฒนาบุคลากรของภาครัฐและภาคเอกชน, การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายสู่การปฎิบัติ เป็นต้น
     สภาผู้ส่งออกขอย้ำถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ คือ การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ ที่ตรงจุด โปร่งใส และทุกคนมีส่วนร่วม, การสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างทั่วถึง, และ การสร้างภาพลักษณ์และจุดยืนของประเทศไทยในเวทีโลก โดยแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทย พร้อมเป็นคู่ค้ากับทุกกลุ่มการค้าและทุกประเทศ พร้อมเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนในภูมิภาคนี้ พร้อมพัฒนาระบบและโครงสร้างในทุกด้านให้ได้มาตรฐานสากล และชูจุดแข็งของความเป็นไทยที่มีเอกลักษณ์และมีคุณค่าของตนเอง