ADS


Breaking News

กองทุนบัวหลวงเปิดแผนธุรกิจ พร้อม theme การลงทุนใหม่ปี 2559

รวมถึงพันธกิจ 5 ปี “ทำให้ครอบครัวไทยมีความมั่นคงทางการเงิน”
(จากซ้าย) นายหรรสา สุสายัณห์ Managing Director, Head of Corporate & High Net Worth Business, นายวศิน วัฒนวรกิจกุล Managing Director, Head of Business Distribution, นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด, นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา Managing Director และ Chief Investment Officer, นายวินัย หิรัณย์ภิญโญภาศ Deputy Managing Director, Head of Operation & System ทุกคนร่วมให้ข้อมูลในการแถลงข่าวครั้งนี้

กองทุนบัวหลวง เปิดแนวทางการดำเนินงานของบริษัทในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลก พร้อมเปิดเผย Theme การลงทุนปีหน้า “สูงวัย สุขสำราญ บริการ ปัจจัย 4” และเผยแผนงานภายใต้พันธกิจ (Mission) จากนี้ไปอีก 5 ปี คือ “ทำให้ครอบครัวไทยมีความมั่นคงทางการเงิน” ภายใต้วิสัยทัศน์ (Vision) หลักขององค์กร “เป็นสถาบันการเงินที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ลงทุนให้บริหารเงินลงทุน ด้วยความยึดมั่นในผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ”


นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) เปิดเผยว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานี้ ผู้บริหารและพนักงานกองทุนบัวหลวง ได้ร่วมกันระดมความคิดและทำแผนกลยุทธ์ธุรกิจสำหรับอีก 5 ปีจากนี้ ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่โลกและประเทศไทยกำลังไปสู่อีกยุค หลังจากผ่านยุคแรกเมื่อ 5 ปีก่อน โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของกองทุนบัวหลวงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


“กลยุทธ์ต่างๆ เหล่านี้เกิดจากจากระดมสมองของพวกเราที่ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ระดมสมองจากหลากหลาย เจเนอเรชัน คือ Baby Boomer, Generation X และ Generation Y  ในบริษัท รวมๆ แล้วประมาณ 50 คน เราทำงานแบบ Bottom Up โดย กำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจแบบ Top Down ลงไปก่อน แล้วทีมงานของเราจะนำประสบการณ์ในสนามจริง กับความคิดสร้างสรรต่างๆ มาผนวกแบบ Bottom Up  คล้ายๆ กับวิธีบริหารกองทุนของเรา ทำให้ได้ผลที่ทุกคนจะเข้าใจว่าจากนี้ไป เป้าหมายร่วมกันของเราคืออะไร จะทำงานกันอย่างไรเพื่อตอบโจทย์ใหม่ที่ท้าทาย นั่นคือพันธกิจใหม่สำหรับ 5 ปีข้างหน้า พ.ศ. 2559-2563 ที่จะ“ทำให้ครอบครัวไทยมีความมั่นคงทางการเงิน” หลังจากพันธกิจเดิมที่กำหนดไว้เมื่อ 5 ปีก่อน ที่ว่า “เราจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ที่สร้างความพึงพอใจ สูงสุดให้แก่ ลูกค้า ผู้ถือหุ้น  พนักงาน และ สังคม” สำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี โดยทั้งสองพันธกิจอยู่บนวิสัยทัศน์ขององค์กร (Vision) ที่ถือเป็นเป้าหมายสูงสุด นั่นคือการ “เป็นสถาบันการเงินที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ลงทุนให้บริหารเงินลงทุนด้วยความยึดมั่นในผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ”

“ที่สำคัญคือเราต้องมั่นใจได้ว่า Generation ต่างๆ ของเราจะมองเป็น มีวิสัยทัศน์ มีความกล้าหาญ ทำงานสอดคล้อง ส่งต่อกันได้ มีความเข้าใจในตัวตนและ DNA ของกองทุนบัวหลวง จนสามารถสืบทอดต่อเนื่องไปได้อย่างราบรื่น และรุ่งเรือง โดยต่อเนื่องไม่ขาดสาย” นางวรวรรณ กล่าว


“สำหรับเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2559 นั้น หากไม่มีเหตุปัจจัยอื่นที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นจนส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ เศรษฐกิจโลกก็น่าจะขยายตัวได้ที่ประมาณ 3.6% ด้วยการขับเคลื่อนจากประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเป็นหลัก ในขณะที่จีนยังต้องปรับตัวตามเป้าหมายของเขา ทำให้ตลาดเกิดใหม่ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของจีน เช่น อาเซียน จะขยายตัวไม่ต่างจากปีนี้มากนัก ส่วนประเทศไทยน่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากปีนี้ที่ประมาณ 2.5% มาอยู่ที่ประมาณ 3.0% ในปีหน้า


อัตราเติบโตของ GDP ไทยจากนี้ไป 4-5 ปี อย่างเก่งก็ได้ 3%-4% เพราะฐานเดิมของเราใหญ่ และต้องปรับเปลี่ยนนวัตกรรมกับการผลิต/บริการอีกมาก อะไรที่เคยมีดี คู่แข่งเขาก็จะตามทันได้ รวมถึงการท่องเที่ยวด้วย อย่าไปตั้งเป้าหมายที่เลื่อนลอยไปว่า GDP จะต้องโตได้เกินจริง ไม่จำเป็นต้องไปยึดอัตราการเติบโตของ GDP เป็นสรณะแบบที่เคยผ่านมาอีก เพราะเป้าหมายที่สำคัญกว่าคือการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งการจะทำให้อัตราการขยายตัวของ GDP ส่งผลดีไปที่คนระดับกลางและล่างด้วย ไม่ใช่ร่ำรวยเฉพาะคนระดับบน จึงจะเป็นภาระกิจที่สำคัญยิ่งของประเทศที่เราทุกคนควรร่วมกันทำให้บรรลุผล นอกจากนี้ กว่าโครงสร้างพื้นฐานจะเห็นผลจริง มันก็ใช้เวลากว่าจะสร้างเสร็จนางวรวรรณ กล่าว

สำหรับมุมมองด้านการลงทุน นางวรวรรณ กล่าวว่า ในปีหน้าตลาดหุ้นไทยน่าจะมีลักษณะ Sideways up ถ้ารัฐบาลสามารถทำให้ความมั่นใจกลับคืนมาได้และไม่มีความรุนแรงอะไรเกิดขึ้นอีก ซึ่งหากประชาชนมีกำลังซื้อที่ดีขึ้นได้ก็จะช่วยให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนเติบโต โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือภัยแล้งกับกำลังซื้อของรากหญ้าที่ยังไม่ดีขึ้น ถ้าแก้ไขตรงนี้ได้ จะไปได้เร็วขึ้น และจะช่วยลดความเสี่ยงจากความไม่สงบภายในประเทศลงไปได้ด้วย


ส่วนเรื่อง FED ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น ตลาดได้รับรู้ไปมากแล้วประเด็นจึงไม่ได้อยู่ว่าจะขึ้นหรือไม่ แต่อยู่ที่จะเริ่มขยับขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งเมื่อเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกก็น่าจะเป็นเหมือนอดีตคือขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่ติดต่อกันไป ทำให้ราคาตลาดตราสารหนี้ในปีหน้าจะผันผวนมากขึ้น เพราะมีความแตกต่างทางนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักๆ โดย FED มีแผนจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ ECB และจีนจะทำตรงกันข้าม คือผ่อนคลายทางการเงินมากขึ้น  ซึ่งดูไปแล้ว การลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ REITs และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจจากอัตราเงินปันผลที่ดีในภาวะอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ”

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา Managing Director และ Chief Investment Officer กล่าวว่า Theme การลงทุนในปีหน้า คือ “สูงวัย สุขสำราญ บริการ ปัจจัย 4”  ซึ่งยังคงเน้นโครงสร้างประชากรที่กำลังเปลี่ยนแปลงและเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการพัฒนาใหม่ๆ อยู่ได้ตลอด ทำให้เกิดโอกาสการลงทุนในหลายๆ ด้าน  ได้แก่


การขยายตัวของชนชั้นกลาง


การก้าวเข้าสู่สังคมเมือง (Urbanization) ของประเทศตลาดเกิดใหม่ทำให้รายได้ของประชนชนสูงขึ้น มีการคาดการณ์ว่าประชากรชนชั้นกลางในเอเชียจะเพิ่มจำนวนจากราว 1,200 ล้านคนในขณะนี้ เป็นกว่า 3,000 ล้านคนในปี ค.ศ. 2030 และการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการที่เป็นปัจจัย 4 ของคนกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ โดยประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนกับอินเดียจะมีประชากรกลุ่มวัยทำงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจซื้อในอนาคต จึงจะเป็นแรงผลักดันและอุดหนุนการบริโภคในระยะยาว


สังคมผู้สูงวัย


นอกจากการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มคนวัยทำงานแล้ว ประชากรอีกกลุ่มที่จะเป็นกำลังหลักของการอุปโภคบริโภคได้แก่กลุ่มผู้สูงวัยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นกลุ่ม  Baby Boomer ที่มีกำลังซื้อมหาศาล โดยในสหรัฐอเมริกานั้นกลุ่ม Baby Boomer มีสัดส่วนกว่า 40% ของประชากร และมีศักยภาพในการใช้จ่ายถึง 70% ของกำลังซื้อในประเทศ ซึ่งไทย สิงคโปร์ หรือจีน ต่างมีแนวโน้มในลักษณะเดียวกัน


อยู่ดี กินดี ดูดี สุขภาพดี


อยู่ดี - เมื่อมีกำลังซื้อมากขึ้น และมีสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น การตกแต่งบ้านหรือการปรับปรุงบ้านก็จะมีสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่ม Baby Boomer ที่กำลังอยู่ในช่วงระหว่างวัยเกษียณ จะมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะลงทุนตกแต่งและปรับปรุงบ้าน


กินดี - ความสามารถในการจับจ่ายที่มากขึ้น และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะคนเมือง ทำให้อุตสาหกรรมอาหารได้รับประโยชน์จากหลายๆ ส่วน คนในชุมชนเมืองทำอาหารเองน้อยลง ออกไปใช้บริการร้านอาหารที่หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งคนเมืองต้องการความสะดวกสบายทำให้อาหารประเภท Ready Meal จะเป็นที่นิยม


ดูดี - ใครๆ ก็ต้องการให้ตัวเองให้ดูดีอยู่เสมอ สังเกตได้จากรูปใน Social Media ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนให้ความสำคัญต่อการดูดี  ดังนั้น จึงต้องการสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการดูดี เช่น การใช้สินค้าที่เสริมบุคลิก เสื้อผ้า เครื่องสำอาง และ สินค้า Anti-aging ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มฐานลูกค้าที่มีอายุมากขึ้น พร้อมจะลงทุนให้ตัวเองดูดีอยู่เสมอ และมีกำลังซื้อสูง


สุขภาพดี - เทรนด์การดูแลสุขภาพยังคงมาแรง และไม่ใช่แค่การรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอาหารเพื่อสุขภาพ ยาบํารุง รวมทั้งบริการอื่นๆ เช่น Fitness ศัลยกรรมความงาม การชะลออายุ การดูแลสุขภาพฟัน ฯลฯ  และเมื่อประชากรสูงอายุมีมากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น


“การเลือกหุ้นลงทุนของเราจะเน้น Theme การลงทุนในปี 2559 ด้วยการต่อยอดปีก่อนๆ โดย เรา Update Theme การลงทุนใหม่ทุกปีเพื่อให้เข้ากับสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต และเพื่อทำให้ประสบความสำเร็จจากการลงทุนในระยะยาว อย่างไรก็ดี เรายังคงลงทุนต่อเนื่องใน Theme เดิมที่ผ่านมาด้วย ไม่ได้ Liquidate ออกไปทั้งหมด เช่น กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานก็ยังอยู่ โดยเราได้ลงทุนไปก่อนหน้าแล้ว ไม่ต้องรอจนราคาขึ้นจึงค่อยมาลงทุน และเมื่อโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้นจริง ผลของมันก็ไม่ใช่เพียงปีหรือสองปี แต่จะต่อเนื่องไปอีกนาน ด้วยเหตุนี้ เราจึงยังคงลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพอร์ตของเราอย่างต่อเนื่อง  แต่เพื่อผลในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เราจึงให้น้ำหนักการลงทุนไปทางด้านภาคบริการที่เกี่ยวกับปัจจัย 4 เป็นพิเศษ” นายพีรพงศ์ กล่าว


นายวศิน วัฒนวรกิจกุล Managing Director, Head of Business Distribution กล่าวว่า การลงทุนที่หวังผลได้สูงๆ ในเวลาเพียงปีเดียวจะไม่ง่ายเหมือนสองสามปีที่ผ่านมา เพราะประเทศกำลังปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้มีกำลังส่งในรอบใหม่ซึ่งต้องใช้เวลา ผู้ลงทุนต้องเข้าใจ และรอคอย เหมือนปลูกมะม่วงในวันนี้ มิอาจให้ผลได้ในเวลาเพียงปีสองปี แต่ถ้าหากมีระยะเวลาลงทุนยาวนานพอก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดทุนลงได้และมีโอกาสดีที่จะได้รับผลตอบแทนสูงๆ จากกำลังส่งจากโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจใหม่ๆ ในระยะยาว


สำหรับในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ กองทุนบัวหลวง แบ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายตามอายุและลักษณะที่แตกต่างกัน เพื่อที่จะทำการตลาด  การสื่อสาร และนำเสนอผลิตภัณฑ์ (Products) และให้บริการ (Service) โดยแบ่งเป็น  7 + 2 Segment ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีความต้องการ เป้าหมายทางการเงิน และการรับความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป

Segment 1: เด็กนักเรียน อายุน้อยกว่า 15 ปี
การปลูกฝังแนวคิดที่ถูกต้องด้านการลงทุน รวมถึงเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้รับประสบการณ์บ้างเป็นเรื่องสำคัญแม้ว่ากลุ่มนี้จะมีระยะเวลาการลงทุนนาน แต่หากให้เขาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากเกินไปและผิดหวัง จะทำให้จำฝังใจและกลัวการลงทุนได้ ดังนั้น จึงต้องค่อยๆ แนะนำทางเลือกการลงทุน และหากจะลงทุนกองทุนที่เสี่ยง ก็ไม่ควรที่จะลงทุนในจำนวนมากนัก และควรใช้วิธีทยอยลงทุนเพื่อสร้างวินัยไปในตัว


Segment 2: ช่วงก่อนวัยทำงาน อายุระหว่าง 15 – 19 ปี
กลุ่มวัยนี้ เป็นวัยอยากรู้อยากเห็นอยากลอง กล้าได้กล้าเสีย ดังนั้น การเลือกลงทุนในกองทุนหุ้น หรือกองทุนผสมที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสูง เช่น บัวแก้ว บัวหลวงโครงสร้างพื้นฐาน บัวหลวงปัจจัย 4 BCARE หรือ B-GLOBAL เป็นต้น


Segment 3: ช่วงเริ่มทำงาน อายุระหว่าง 20 – 29 ปี
เป็นวัยที่เริ่มรับผิดชอบตัวเอง อยากอยู่ได้โดยไม่พึ่งครอบครัว ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงินจึงสำคัญยิ่ง มีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนาน การวางแผนและลงมือทำโดยเร็วจะทำให้เขามีโอกาสที่จะมีอิสรภาพทางการเงินได้เร็ว และเนื่องจากรับความเสี่ยงได้มาก กองทุนที่แนะนำจึงเป็นกองทุนหุ้น เช่น บัวแก้ว บัวหลวงโครงสร้างพื้นฐาน บัวหลวงปัจจัย 4  BCARE หรือ B-GLOBAL เป็นต้น


Segment 4: ช่วงสร้างครอบครัว อายุระหว่าง 30 – 39 ปี
เป็นช่วงเริ่มมีครอบครัว มีภาระ ไม่ว่าจะเป็นภาระจากการซื้อรถ ซื้อบ้าน ดังนั้น เงินลงทุนอาจมีการแบ่งสัดส่วนการลงทุนให้กระจายตัวมากขึ้น ความเสี่ยงที่รับได้คือปานกลางค่อนข้างสูง อาจลงทุนในกองทุนหุ้นประมาณครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินลงทุน


Segment 5: ช่วงสร้างความมั่นคง อายุระหว่าง 40 – 55 ปี
เป็นช่วงวัยมั่นคง มีรายได้มากที่สุด แต่ก็จะมีรายจ่ายมากที่สุดด้วย ดังนั้น ความเสี่ยงที่รับได้จะเริ่มลดลง สามารถรับได้ในระดับปานกลาง ดังนั้น การลงทุนจึงควรมีส่วนผสมของหุ้นลดลงมา เช่นเหลือกองทุนหุ้นประมาณ 40% และส่วนที่เหลือเป็นตราสารหนี้ นอกจากนี้ อย่าลืมเรื่องการลงทุนเพื่ออนาคตยามเกษียณ เช่น กองทุน RMF และ LTF


Segment 6: ช่วงเตรียมตัวก่อนเกษียณ อายุระหว่าง 55 – 60 ปี
เป็นช่วงที่ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่วัยเกษียณ ต้องเคลียร์ภาระหนี้ต่างๆ ให้หมด หากยังมีภาระอยู่ก็ต้องกันเงินส่วนหนึ่งสำหรับค่าใช้จ่ายที่จะต้องเกิดขึ้น ดังนั้น เงินในส่วนที่ต้องกันเป็นค่าใช้จ่ายควรมีความเสี่ยงต่ำลง เช่น กองทุนกลุ่มตราสารหนี้ และควรลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงประมาณ 30-40% ส่วนที่เหลือลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง กองทุน RMF และ LTF กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ


Segment 7: ช่วงเกษียณ อายุมากกว่า 60 ปี
เป็นช่วงที่ไม่มีรายได้ เงินเก็บที่มีจะต้องบริหารให้ดีเพื่อให้มีใช้จ่ายจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต หากมีเงินก้อนต้องแบ่งสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะ ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงประมาณ 20-30% เพื่อไม่ให้เงินลดค่าลงตามกาลเวลา กองทุนที่เหมาะสมคือ B-SENIOR กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน  หรือเลือกการลงทุนด้วยตัวเอง ผสมผสานการลงทุนเองตามความเหมาะสม


Segment 8 : Family Business / Family Office และ Segment 9 : Corporate
เป็นการทำตลาดโดยตรงแบบ Focus ไม่ใช่แบบ Mass โดยจะเน้นเรื่องการขยายตัวแทนขายที่เข้าถึงกลุ่มต่างๆ ให้เพิ่มขึ้น ตลอดจนนำแนวคิดเรื่อง Changing Behavior กับ Social Value ที่ให้ความสนใจและให้ความสำคัญในเรื่องความรับผิดชอบ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ตลอดจนบรรษัทภิบาล และความยั่งยืนของกิจการมากขึ้น โดยจะนำประเด็น Social Resposible Investment และ  E S G เป็นตัวนำ


“การทำการตลาดของเรามุ่งไปที่การทำให้ครอบครัวไทยมีความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งตรงกับพันธกิจของเรา เพราะเราต้องการให้ผู้ลงทุนคิดถึงเราในลำดับต้นๆ เมื่อจะลงทุน สิ่งที่เราได้ดำเนินการมาแล้วและจะดำเนินการต่อไปในแต่ละกลุ่มลูกค้า ตั้งแต่เด็กน้อยหน้าใส จนถึงวัยเกษียณ เพราะเราต้องการให้ผู้ลงทุนคิดถึงเราในลำดับต้นๆ เมื่อจะลงทุน  ให้นึกถึงว่าเรา เป็น  Advisor for Life สำหรับเขา” นายวศินกล่าว


นายวินัย หิรัณย์ภิญโญภาศ Deputy Managing Director, Head of Operation & System  กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และการเปลี่ยนแปลงด้าน Digital Technology ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องท้าทายสำหรับกองทุนบัวหลวงที่จะต้องตอบสนองทั้ง 2 เรื่องให้ได้


ในด้านการให้บริการ กองทุนบัวหลวงมีแผนการพัฒนาบริการให้เกิดระบบที่ง่าย รวดเร็ว และมีทางเลือกให้ลูกค้าเลือกใช้บริการได้หลายช่องทางตามความเหมาะสมของตนเอง เช่นการพัฒนาช่องทางการซื้อขายหน่วยผ่านทางโทรศัพท์ เพื่อรองรับกลุ่มคนที่ไม่ชอบการใช้สื่อดิจิตอลมากนักอย่างผู้สูงวัย และจะใช้ Application สำหรับลูกค้าบาง segment เช่นลูกค้ากองทุนรวมบัวหลวงร่วมทุน หรือลูกค้าที่ไม่ใช่ลูกค้าของธนาคารกรุงเทพ เพื่อเป็นการสร้างฐานลูกค้าใหม่ให้กับธนาคารด้วย  ในอนาคตเราจะมี Application สำหรับผู้ใช้ Smart Phone หรือ Tablet บนระบบปฏิบัติการทั้งที่เป็น IOS , Android และเราจะให้ความสำคัญกับเรื่องของ Digital marketing เราจะมีช่องทางการสื่อสาร เช่น Line@ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เรามี Facebook  


ในส่วนของตัวแทนขาย (Selling Agent)  จะมีการพัฒนา Platform ที่ให้ความสะดวกแก่ตัวแทนในการทำงาน พัฒนาระบบต่างๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกสำหรับลูกค้าของ Agent ต่างๆ ทั้งเรื่องช่องทางการชำระค่าซื้อหน่วยลงทุน  ช่องทางการทำรายการผ่าน Online (iBanking) และสนับสนุนให้มีตัวแทนขายเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มี บล.บัวหลวง บล.โนมูระพัฒนสิน และตัวแทนขายหน่วยลงทุนของ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต


“นอกจากการพัฒนาไปข้างหน้าเพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านบริการแล้ว การเตรียมพร้อมรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่จะกระทบกับผู้ลงทุนก็เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะหัวใจของเราคืองานบริการ  เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันก็ต้องมั่นใจได้ว่าธุรกิจเราจะต้องเดินต่อไปได้ โดยเราได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพในฐานะบริษัทแม่ที่ช่วยดำเนินการจัดทำ ระบบบริหารจัดการธุรกิจให้มีความต่อเนื่อง Business continuity management (BCM) ที่จะทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้ในทุกๆ สถานการณ์ และเพื่อให้สามารถฟื้นกลับสู่สภาพปกติหลังเกิดเหตุการณ์ทำให้หยุดชะงักได้อย่างรวดเร็ว” นายวินัย กล่าว


นายหรรสา สุสายัณห์ Managing Director, Head of Corporate & High Net Worth Business  กล่าวถึง การทำธุรกิจในอนาคตว่า กองทุนบัวหลวงให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG และ Social Responsibility Investment (SRI) เนื่องจากเรามั่นใจว่า การทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การมีบรรษัทภิบาล กับการให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชั่น (ESGC) จะเป็นการทำธุรกิจที่ยั่งยืน ทำให้ได้รับการยอมรับจากลูกค้าและนักลงทุน เป็นการสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็งเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้ลงทุนและสาธารณชน ดังนั้น กระบวนการลงทุนของเราจึงให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ เรานำเรื่องการมีบรรษัทภิบาลที่ดีของบริษัทต่างๆ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการลงทุนในทุกๆ กองทุน  โดยมี กองทุนบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาล ที่ระบุชัดเจนถึงการเลือกลงทุนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้


“สิ่งที่เราภูมิใจคือเรามีกองทุนที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง ESGC (Environment / Social Responsibility / Governance / Anti-Corruption) โดยเฉพาะอย่าง กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND)  โดยหวังให้เป็นกลไกที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้สนับสนุนบริษัทที่มีการกำกับกิจการที่ดีตามเกณฑ์ ESGC ทำให้บริษัทต่างๆ เห็นความสำคัญถึงเรื่องเหล่านี้ให้มาก เพราะจะมีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ใส่ใจและเลือกลงทุน เลือกซื้อสินค้าและบริการด้วยเรื่องเหล่านี้เช่นกัน ทั้งนี้ กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND)  ได้นำเงินถึง 40% ของรายได้ในการบริหารกองทุนไปสนับสนุนโครงการที่แก้ปัญหาและสร้างสรรสังคมไทยประเภทต่างๆ ซึ่งปัจจุบันได้จัดสรรเงินส่วนนี้เพื่อช่วยเหลือโครงการต่างๆ แล้วกว่า 17 โครงการ”

เราอยากให้คนไทยนึกไว้ในใจเสมอว่า “ทำดี...ไม่ต้องรอ” คือทำดีได้ทุกคน ทุกวัน ไม่ต้องรอให้ร่ำรวยหรือเป็นใหญ่เป็นโต มาร่วมกันเป็นเทียนเล่มเล็กที่รวมกันให้พลังแสงที่สว่างไสวกันตั้งแต่วันนี้ร่วมกับเรากองทุนบัวหลวงเถิดครับ นายหรรสา กล่าวทิ้งท้าย