ADS


Breaking News

A-Plas 2016 เสริมความแข็ง แกร่งอุตสาหกรรมพลาสติกไทยอนาคตไกล ใจเกินร้อย

ชูอุตฯ พลาสติกไทยผู้นำตลาด AEC
     สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทยและกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมั่นใจ อุตสาหกรรมพลาสติกไทยมีศักยภาพจะเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมพลาสติกในอาเซียนและยังมีบทบาทหลักในภาคการส่งออกต่างๆของประเทศ
     นายอัฒฑวุฒิ หิรัญบูรณะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมพลาสติกเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้ง อุตสาหกรรมพลาสติกยังมีบทบาทสำคัญในการส่งออกเนื่องจากผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราและมีความเกี่ยวเนื่องกับชีวิตประจำวันของเราอย่างมาก รวมทั้งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆอีกหลายอุตสาหกรรม ดังนั้น การเติบโตของอุตสาหกรรมพลาสติก นอกจากจะดูจากผลิตภัณฑ์พลาสติกโดยตรงแล้ว ยังต้องมีการเชื่อมโยงมาจากอุตสาหกรรมปลายทางที่มีการนำพลาสติกไปใช้ โดยกลุ่มหลักที่มีการนำไปใช้ได้แก่ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรมก่อสร้าง

     การใช้พลาสติกในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นมีการใช้พลาสติกต่อหน่วยน้ำหนักมากที่สุด อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมยานยนต์ยังมียอดขายต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ จากทั้งภายในประเทศและนอกประเทศสำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ภาวการณ์ผลิตภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1-2 จากการขยายตัวของเครื่องปรับอากาศไปยังตลาดหลัก และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ การเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมดาวรุ่งในปี 2558 นี้ และส่งผลในเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ พลาสติกและฟิล์ม อุตสาหกรรมก่อสร้างนั้นเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมเด่นแห่งปี 2558 เช่นกัน สืบเนื่องมาจากการสนับสนุนของภาครัฐในเรื่องนโยบายการลงทุนที่ชัดเจนมากขึ้นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับการแข่งขันทางการค้าและการลงทุนของไทยอีกทั้งเพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 การเปิด AEC ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีการสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม โดยเฉพาะภาคอีสานของไทย เพื่อรองรับการเข้ามาของนักลงทุนจากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงสามารถมองเห็นได้ว่าแม้เศรษฐกิจจะมีการชะลอตัว ในบางภาคส่วนของอุตสาหกรรมแต่อุตสาหกรรมพลาสติกนั้นยังคงอยู่ในลำดับสินค้าส่งออก 20 อันดับแรกของไทย อีกตัวอย่างหนึ่งที่ใกล้ตัวและมองเห็นได้ชัดคือวิกฤติภัยแล้งซึ่งแม้จะมีผลกระทบต่อการเติบโตของจีดีพีของประเทศแต่ส่งผลให้ความต้องการพลาสติก เช่น บรรจุภัณฑ์สำหรับใส่น้ำพุ่งทะยานสูงขึ้น

    นายพิชัย ชูเอกวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย เปิดเผยว่าถึงแม้จะมีวิกฤติเศรษฐกิจหรือภัยธรรมชาติต่างๆ แต่ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกมิได้ลดลง พลาสติกยังคงเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญทั้งต่อผลิตภัณฑ์พลาสติกเอง และวัตถุดิบตั้งต้นให้แก่อุตสาหกรรมอื่นๆ ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานพลาสติกจำนวนกว่า 3,000 แห่ง ประกอบด้วยโรงงานแปรรูปเม็ดพลาสติก โรงงานขึ้นรูปพลาสติก ผู้ผลิตเครื่องจักรและแม่พิมพ์ โรงงานหลอมเม็ดพลาสติกและผู้ผลิตปิโตรเคมี ซึ่งเมื่อปี 2557 ประเทศไทยมียอดขายรวมอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกอยู่ที่ 6.1 แสนล้านบาทกระจายอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ประเภท ต่างๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องใช้ในบ้าน เฟอร์นิเจอร์ของเล่น รองเท้า และภาคอุปกรณ์การเกษตร และอื่นๆ อีกมากมาย และคาดการณ์ว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องอีก 5% คิดเป็นมูลค่า 6.40 แสนล้านบาท ในปี 2558 นี้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก 3 ปัจจัย คือ อุตสาหกรรมต่อเนื่องมีการขยายตัวทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเริ่มในปลายปี 2558 และพลาสติกกับอุตสาหกรรมการเกษตรโดยการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เช่น ในสภาวะที่ปัจจุบันมีภัยแล้งและสภาวะอากาศที่แปรปรวน การใช้พลาสติกในการเกษตรเพื่อช่วยในการปลูกพืช โดยใช้น้ำน้อย เช่น ระบบการจ่ายน้ำหยดทางท่อพลาสติก การปูพลาสติกเพื่อการกักเก็บน้ำ การใช้พลาสติกคลุมโรงเรือน พลาสติกคลุมหน้าดินเพื่อรักษาอุณหภูมิ ความชื้น และลดการใช้สารเคมีนอกจากนั้นเรายังมีการส่งออกเม็ดพลาสติกอีกประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปีโดยร้อยละ 88 % เป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นหลักดังนั้นการพัฒนาศักยภาพของ SME พลาสติกไทยจึงเป็นสิ่งที่สมาคมและหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุน

     นายสุชาติ ซื่อสัจจกุล ประธานการจัดงาน A-PLAS 2016, Connecting Plastic Industry, Accelerating Business Growth ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 14 – 17 กันยายน 2558 ณ ไบเทค บางนา ฮอลล์101-102 เป็นงานแสดงสินค้านานาชาติด้านอุตสาหกรรมพลาสติกครบวงจรทั้งขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็กโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกไทยและเพื่อเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อการสร้างพันธมิตรใหม่ทางธุรกิจ โดยจะเป็นเวทีให้บริษัทในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะเอเซีย ที่มางานแสดงในงาน ได้แสดงออกถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลาสติกใหม่ๆ อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าชมงาน การที่อุตสาหกรรมจะเติบโตได้นั้น นอกจากพัฒนาอุตสาหกรรมของตนเองแล้วยังต้องพัฒนาร่วมกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกัน (Cluster) ดังนั้น การลงนามในบันทึกความเข้าใจทั้ง 2 รายการในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมที่จะสร้างความมั่นคงและการเจริญเติบโต ของอุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศไทยและอุตสาหกรรมอื่นๆต่อไป อันได้แก่

1.การลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือของ 2 องค์กรใหญ่ในการจัดงาน A-PLAS 2016 ระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทยและกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

2.การลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทยและกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในนามผู้จัดงาน A-PLAS 2016 กับ สมาคมการค้าวัสดุอุปกรณ์การพิมพ์ไทย ในนามผู้จัดงาน GASMA PRINT 2016 ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับการพิมพ์นานาชาติ โดยจะมีนวัตกรรมการพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์พลาสติกหรือ ผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดอื่นๆ