ADS


Breaking News

อพท. จับมือ มธ. พัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่นและวิถีชุมชน พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวที่สนใจแล้ว

     ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘ : นายสมชัย เพียรสถาพร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยงอย่างยั่งยืน (กพท.)  และ พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร. ประมวญ เทพชัยศรี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  จัดงานแถลงข่าว กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ “Creative Tourism Thailand: New Destinations” ขึ้นที่ Sukhumvit Park, Bangkok - Marriott Executive Apartments ซอยสุขุมวิท ๒๔
     จากซ้ายไปขวา 1.คุณธนกฤต ภัทร์ธราธร หัวหน้างานท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.), 2.ผศ.สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ หัวหน้าคณะทำงานโครงการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 3.ศ.ดร.ประมวญ เทพชัยศรี  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 4.คุณสมชัย เพียรสถาพร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กพท.), 5.พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.), 6.ผศ.ดร.พิเชฐ สายพันธ์ คณะทำงานโครงการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 7.คุณมนทิรา จูฑะพุทธิ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)
  ซึ่งที่ผ่านมา ทาง อพท. ได้ร่วมมือกับ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ดำเนินงานท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ด้วยการคัดเลือกกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่มีอัตลักษณ์ของตนเองจำนวน ๑๓ กิจกรรม จากพื้นที่พิเศษทั้ง ๖ แห่งของ อพท. และประเมินผล หลังจากที่ได้ดำเนินกิจกรรม สร้างความตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งมีคุณลักษณะที่ เป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยว ที่มีความสนใจ
    ซึ่ง นายสมชัย เพียรสถาพร  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ได้กล่าวเปิดงานสรุปได้ว่า “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ นี้เองจะนำไปสู่การท่องเที่ยว ที่เรียกได้อย่างชัดเจนว่า “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” การดำเนินการในเรื่องนี้นั้น อพท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการพัฒนา ต่อยอด ขยาย เชื่อมโยง และส่งผลให้เกิดต้นแบบ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ที่วันนี้ประเทศไทยเรามี แหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ อย่างแท้จริงขึ้นแล้ว ผมหวังว่า คณะทำงานการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จะดำเนินการสืบค้น และค้นหากิจกรรมที่นักท่องเที่ยว สามารถเรียนรู้ได้ทั้งรู้วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม หัตถกรรมพื้นถิ่น และอื่น ๆ อีกมากมาย ตลอดจนพัฒนากิจกรรม ที่สืบค้นได้เหล่านั้น ให้กลายเป็น “กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” เพิ่มมากขึ้น เพราะประเทศไทย เรามีอะไรดี ๆ อีกมาก เพียงแต่ไม่ได้ถูกเชิดชู ยกย่องและให้ความสำคัญ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะทำให้สิ่งดี ๆ เหล่านี้ ยังคงอยู่และอยู่ได้ตลอดไป ในสังคมไทย”
    โดย พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ได้กล่าวถึงที่มา ของงานในครั้งนี้ว่า “เป็นเวลากว่า ๔ ปีแล้วที่ อพท.ได้ดำเนินการงาน ด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ในพื้นที่พิเศษภายใต้ความร่วมมือ ตามข้อตกลงระหว่าง อพท.กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์สำคัญ คือ ทำให้การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ นำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์นั้น มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชุมชนและเอกลักษณ์สถานที่ การให้นักท่องเที่ยว ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการ สร้างประสบการณ์ตรง ร่วมกันกับเจ้าของวัฒนธรรมและใช้ชีวิตร่วมกัน กับเจ้าของสถานที่ อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชุมชน และเอกลักษณ์ ของสถานที่นั่นเอง ดังนั้น การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จึงไม่ใช่กิจกรรมที่เน้นสร้างรายได้ ให้กับชุมชน แต่เป็นกิจกรรมที่เน้น “คุณค่า” ของชุมชนเป็นสำคัญ”
    “ทั้ง ๑๓ กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้ผ่านกระบวนการทำความเข้าใจหลักการของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การเตรียมความพร้อมในการรับนักท่องเที่ยว การพัฒนาศักยภาพโดยตระหนักรู้ในภูมิปัญญาที่มี พร้อมทั้งผ่านเกณฑ์ การประเมินทั้งโดยคณะกรรมการ และนักท่องเที่ยว จนบัดนี้ มีความพร้อมที่จะเป็น แหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ใหม่ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นที่มาของการ จัดงานประกาศตัวกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ทั้ง ๑๓ กิจกรรมให้เป็นที่รู้จัก โดยทั่วไปและเป็นที่ภาคภูมิใจ ของคนไทยทั้งชาติ” พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวสรุป
    ทั้งนี้ในงานยังได้มีการจัดเสวนา “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์: หัวใจสำคัญสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” นำโดย พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท และผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุดแดน  วิสุทธิลักษณ์ หัวหน้าคณะทำงานโครงการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ พร้อมทั้งมอบตราสัญลักษณ์  “Creative Tourism Thailand” แก่เจ้าของกิจกรรมทั้ง ๑๓ กิจกรรม “ต้นแบบ” การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และการมอบรางวัลให้แก่นักศึกษาที่เข้าประกวดแผนธุรกิจเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยผู้เข้าร่วมงานยังได้ชมการสาธิตกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อีกด้วย สำหรับผู้สนใจกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ www.ctthailand.net