ADS


Breaking News

“เคลื่อน เพื่อ หยุด ความรุนแรงต่อผู้หญิง” (MOVE to STOP violence against women)

ห่วง!“ครอบครัว-คนใกล้ชิด”ต้นตอปัญหาผู้หญิงถูกทำรุนแรงต่อเนื่อง ชี้สถิติเด็ก-ผู้หญิงถูกทำร้ายเข้ารพ.เฉลี่ย  87 ราย/วัน  พนง.สอบสวนเผยกระบวนดูแลยังพบช่องโหว่ แนะสังคมต้องตระหนักร่วมแก้
    เมื่อวันที่ 7 มีนาคม เวลา 15.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรผู้หญิง ในนาม "เครือข่ายรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง" จัดกิจกรรมรณรงค์ “เคลื่อน เพื่อ หยุด ความรุนแรงต่อผู้หญิง (MOVE to STOP violence against women)” ขึ้น  เนื่องในวันสตรีสากล (8 มีนาคม) โดยมี ดร. ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. และ ดร. ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงาน

     ดร. ประกาศิต กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่าร้อยละ 35 หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลก เคยถูกทำร้ายร่างกายและ/หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ  ในปี 2556 พบมีผู้หญิงและเด็กถูกทำร้ายถึงขั้นได้รับบาดเจ็บ ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล รวม 31,886 ราย หรือ 87 คนต่อวัน  โดยความรุนแรงเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เราคิดว่าปลอดภัยที่สุด นั่นคือ บ้าน สถิติเหล่านี้ ทำให้เห็นว่าปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงนี้มีความร้ายแรง แต่ที่ผ่านมา คนในสังคมจำนวนไม่น้อยยังมีความคิดความเชื่อที่ไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา เช่น คิดว่าความรุนแรงในชีวิตคู่หรือในครอบครัวเป็นปัญหาส่วนตัว หรือคิดว่าการถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องน่าอับอายสำหรับผู้หญิงที่ถูกกระทำ ขณะที่กลไกของรัฐหลายด้านเองก็ยังต้องได้รับการพัฒนาสมรรถนะการทำงาน เพื่อเป็นที่พึ่งของผู้ประสบปัญหาและสามารถป้องกันปัญหาในระยะยาวด้วย การจะแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย และจะแก้ไขให้ได้ผลควรเริ่มจากการที่คนในสังคมตระหนักและไม่เพิกเฉยต่อปัญหาดังกล่าว

     ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานส่งเสริมสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า การร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงด้วยกิจกรรมการร่วมเต้นรณรงค์เพลง Break the Chain เป็นไปเพื่อสร้างจิตสำนึกการไม่ยอมรับความรุนแรงต่อผู้หญิงในสังคมไทย ซึ่งเครือข่ายฯยังจะมีแผนรณรงค์ต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนทางสังคม โดยเริ่มตั้งแต่วันสตรีสากล ไปจนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง เพื่อสร้างพื้นที่ให้คนในสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงต่อผู้หญิง และอยากให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ได้ออกมาร่วมแสดงพลัง เรียกร้องและร่วมมือกันหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
     ด้าน พ.ต.อ. หญิง ปวีณา เอกฉัตร พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ หัวหน้างานสอบสวน สน.สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า กรณีการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงพบว่า 80-90% เป็นกรณีสามีทำร้ายภรรยา 10-20 %เป็นกรณีของพ่อเลี้ยงทำร้าย/ล่วงละเมิดลูกเลี้ยง ในส่วนของสามีภรรยาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ประเด็นที่ภรรยามาเพื่อแจ้งความดำเนินคดีมีน้อย แม้จะมี พรบ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ที่มีการกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ถูกกระทำ และสามารถสั่งให้ผู้ที่ใช้ความรุนแรงต้องเข้ารับการบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่กระบวนการจริงในการบังคับใช้กฎหมายตรงนี้ ยังได้ผลไม่เต็มที่ เพราะว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการส่งต่อเคสที่มีประสิทธิภาพ และในประเทศไทยก็ยังขาดหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ ที่จะสามารถรองรับเรื่องการบำบัดและปรับพฤติกรรมของผู้ที่ใช้ความรุนแรงอย่างได้ผล  ส่วนตัวมองว่า ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการดูแลเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ที่สำคัญคือการปลูกฝังเด็กที่กำลังเติบโต ให้เข้าใจและตระหนักว่าปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
     ติดตามขัอมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ