ADS


Breaking News

เวที 'Education for the Future' หนุนห้องเรียนแห่งอนาคตปฏิรูปการศึกษา ศธ.เพิ่มทักษะเทคโนโลยี-ทีดีอาร์ไอเสนอ 3 ข้อคืนครูสู่ห้องเรียน

พลังการเรียนรู้ สู่ห้องเรียนแห่งอนาคต
การสัมมนา "Education for the future ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต" มี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย มร.โยง เชิล โจ ประธาน บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ , รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , คุณวาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center และคุณบุญลาภ ภูสุวรรณ บรรณาธิการและผู้ก่อตั้ง สำนักข่าวออนไลน์ Thaipublica เข้าร่วมขับเคลื่อนความร่วมมือคร้ังใหญ่ ระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และสื่อมวลชน เพื่อร่วมหาคำตอบของการจัดการศึกษาให้เด็กและเยาวชนไทย ก้าวสู่ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558  ณ ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
   25 มีนาคม 2558 - คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซัมซุง และสำนักข่าวออนไลน์ ไทยพับลิก้า จับมือจัดสัมมนาแห่งปี Education for the Future ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต” ณ ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมด้วย มร.โยง เชิล โจ ประธาน บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันการศึกษาชั้นนำ ครูและเยาวชนในโครงการ “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” (Samsung Smart Learning Center) เข้าร่วมกว่า 300 คน โดยมีเป้าหมายการระดมแนวทางผ่าทางตันวิกฤตการศึกษาไทย และสนับสนุน “ต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต” เพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ สู่อนาคตการศึกษาในศตวรรษที่ 21

   ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการเปิดเวทีสัมนา Education for the Future ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต” ครั้งนี้ว่า ระบบการศึกษาของไทย ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป ให้สอดคล้องกับบริบทของโลกใหม่ ที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะ (Skill) หลายด้าน โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีทันสมัย ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคต กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องสร้างความพร้อมแก่เด็กและเยาวชนไทยแบบไม่หยุดนิ่ง ให้เกิดทักษะที่เท่าทันความก้าวหน้าดังกล่าว ขณะที่บุคลากร เช่น ครู หรือผู้บริหารสถาบันการศึกษา ก็ต้องปรับตัวเองให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
   ทั้งนี้ แรงขับเคลื่อนให้เด็กไทยต้องปรับตัว สะท้อนจากผลการสำรวจของบริษัท ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์ ต่อมุมมองของเด็กรุ่นใหม่ในประเทศ จีน สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ พบว่า ต่างมีความต้องการออกไปทำงานนอกประเทศ มากกว่าสมัยก่อน และพร้อมใช้ภาษาอื่นๆ นอกเหนือจากภาษาประเทศตัวเองมากขึ้น แสดงว่าเด็กเหล่านี้มีศักยภาพและมีทักษะในการก้าวสู่โลกภายนอก
   ขณะที่โจทย์ใหม่ของประเทศไทย คือกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีคนในวัย 60 ปีขึ้นไปมากขึ้น แต่ประชากรเกิดใหม่และวัยทำงานน้อยลง ทำให้โลกแห่งการเรียนรู้จะยาวนานขึ้น ไม่ใช่แค่ 12 ปี แต่ต้องเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้น ถ้าเราจัดการศึกษาแบบปัจจุบัน จะเอาเด็กที่ไหนมาเรียน อีกทั้ง เมื่อพิจารณาจากสถิติพบว่า เด็กไทย 10 คน ที่เข้่าโรงเรียน แต่เรียนไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน คน และเรียนจบแค่ระดับ ม.3 หรือ ปวช. 5 คน ส่วนที่เหลืออีก คน แม้จะเข้าระดับอุดมศึกษาได้ก็จะมี คน ที่เรียนไม่สำเร็จปริญญาตรี ดังนั้น เท่ากับว่า เรามีเด็ก คนที่หลุดจากระบบ ออกไปทำงานโดยยังไม่มีประสบการณ์ ไม่มีวุฒิการศึกษาที่ดีพอ
   “ดังนั้น เราต้องสร้างเด็กไทยให้เข้าสู่วัยแรงงานอย่างมีคุณภาพ เชื่อว่าถ้าระบบการศึกษาไทยดีแล้ว บริษัทต่างๆจะนำงานดีๆเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้นอีก เพราะต่อไปนี้คือโลกของ Internet everything และเป็นสภาพแวดล้อมของสื่อสมัยใหม่ หรือนิวมีเดีย ที่ต้องการเด็กที่มีทักษะ สามารถทำงานในองค์กรที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และใช้เครื่องมือสมัยใหม่ในการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากที่สุด"

   ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวปาฐกาถาพิเศษ ในหัวข้อ“ประเทศไทยกับอนาคตหาการศึกษา” ว่า สิ่งแรกที่ควรปรับห้องเรียนเปลี่ยนอนาคต คือการ "คืนครูสู่ห้องเรียน" และเปลี่ยนระบบการประเมินสถานการศึกษาใหม่ จากการตรวจเอกสารเป็นหลัก ทำให้ครูมีภาระต้องใช้เวลานานมากมาเน้นดูสภาพความเป็นจริง และจัดอบรมครูในช่วงปิดภาคเรียนหรือช่วงวันหยุด ก็จะทำให้ครูไม่เสียเวลากับการเรียนการสอน
   "ถ้าเราจะเป็นการศึกษาศตวรรษที่ 21 จริงๆ ต้องใช้การศึกษาที่ครูสามารถสอนให้นักเรียนคิดเป็นทำเป็น เช่น สอนให้ทำโปรเจคต์เป็นจริงๆ ไม่ใช่สอนโดยการเลคเชอร์"
   สองก็คือต้องคืนครูที่เก่ง กลับสู่ห้องเรียน เพราะหนึ่งในหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา ก็คือคัดเลือกครูที่ดี จากงานวิจัยพบว่า จะช่วยให้นักเรียน มีผลการเรียนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะมีครูเกษียณถึง 200,000 คน การรับครูใหม่เข้ามาจึงมีความสำคัญมาก โดยในปี 2557 ที่ผ่านมา มีผู้ที่สอบบรรจุเป็นครูประมาณ 100,000 คน และในปี 2562 จะมีครูที่จบใหม่อีกประมาณ 300,000 คน โดยมีผู้ที่มีใบอนุญาตเป็นครูได้อยู่แล้วอีกประมาณ 300,000 คน
   "ฉะนั้นประเทศไทยจะมีคนที่พร้อมเป็นครู 600,000 คน ในขณะที่จะมีการรับครูประมาณ 40,00-50,000 คน เพราะฉะนั้นการแข่งขันแบบ 10 เลือก ก็จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต นี่ก็เป็นโอกาสดีที่จะต้องคัดเลือกครูสู่ห้องเรียนที่ดีให้ได้"
   ประการที่สาม หากเราจะปรับห้องเรียนเปลี่ยนอนาคต จะต้องบริหารจัดการห้องเรียนให้ดีด้วย เช่น ระบบการให้รางวัลครูต้องสอดคล้องกับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยปรับวิธีวัด KPI ดูจากผลการเรียนของนักเรียนมากขึ้น หรือการให้อิสระโรงเรียนในการคัดเลือกครู และการจัดตัวชี้วัดในการเลื่อนเงินเดือน เลื่อนวิทยฐานะของครูให้มีความสอดคล้องกับสิ่งที่ควรจะเป็นจริงๆ
   "เรื่องสุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก มีอีกวิธีหนึ่งที่จะสามารถช่วยปรับปรุงห้องเรียนปรับปรุงการเรียนการสอนได้ และช่วยยกระดับการเรียนรู้ แม้เวลาที่นักเรียนไม่อยู่ในห้องเรียน ก็คือเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา"

   รศดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดสัมมนาระดมสมอง Education for the Future ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต ในครั้งนี้ ถือเป็นความพยายามร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และสื่อมวลชน เพื่อร่วมหาคำตอบของการจัดการศึกษาในอนาคต ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะปัญหานี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ต้องเร่งหาทางออก ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นการตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบถึงอนาคตการศึกษาไทยร่วมกัน
   ในเวลาที่ผ่านมาปัญหาวิกฤตการณ์ศึกษานั้นสะท้อนผ่านตัวชี้วัดจากคะแนนทดสอบมาตรฐานต่างๆ ที่พบว่าคุณภาพการศึกษาไทยยังล้าหลังกว่าประเทศอื่นในโลก รวมไปถึงประเทศในอาเซียนด้วยกัน เช่น การประเมินผลนานาชาติ (PISA) ที่พบว่าเมื่อเทียบกับประเทศในOECD ด้วยกัน ไทยมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า ค่ามาตรฐาน หรือการจัดอันดับของ World Economic Forum ที่ไทยมีคุณภาพการศึกษาเป็นอันดับ ตามหลัง สิงคโปร์ มาเลเซีย บูรไน อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา การศึกษาไทยจึงกำลังเผชิญปัญหาทั้งในเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในรายวิชา รวมไปถึงทักษะทางการคิด ไปจนถึงความสามารถในการอ่านการเขียน
   “สิ่งสำคัญไปกว่านั้นการจัดการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการแข่งขันเพียงอย่างเดียวอย่างที่เป็นอยู่ยังสร้าง ความทุกข์ให้พ่อแม่ผู้ปกครองและคนที่เกี่ยวข้อง วันนี้เราจึงจำเป็นต้องตั้งโจทย์การศึกษาใหม่ หรือที่หลายคนอาจจะเรียกว่าการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เพราะโลกเปลี่ยนไป เราคงไม่สามารถใช้วิธีการเรียนการสอนแบบเดิมเพื่อตอบโจทย์ในอนาคตได้” รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ กล่าว 

   ด้านนางสาวศศิธร กู้พัฒนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า ในทุกประเทศที่ ซัมซุง เข้าไปดำเนินธุรกิจ ซัมซุง มีนโยบายที่จะนำเอานวัตกรรมของเรา มาสร้าง การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสังคมนั้น โดยคำนึงถึงบริบทและความต้องการของสังคม ในประเทศไทยเราพบว่า การศึกษาเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่ผู้คนในสังคมทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญ ซัมซุงจึงนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีของเรา มาพัฒนาโครงการที่จะช่วยแก้ปัญหาการศึกษาในประเทศไทย และในงานสัมมนาในครั้งนี้ ซัมซุง ได้ร่วมถ่ายทอดบทเรียนจากการดำเนินโครงการเพื่อสังคม Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 ในการพัฒนาต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กไทยทั่วประเทศ ซึ่งได้ดำเนินโครงการนำร่องไปแล้วในโรงเรียน 31 แห่งทั่วประเทศ และตั้งเป้าให้ถึง 40 แห่งในปี2558 การดำเนินโครงการนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการนำแนวคิดการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ตามแนวทางสากล มาประยุกต์ใช้ได้ในบริบทประเทศไทยอย่างรอบด้าน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นฐาน
   “วันนี้ห้องเรียนแห่งอนาคตของ ซัมซุง ได้ช่วยให้ครูและนักเรียนก้าวข้ามข้อจำกัด ในการเรียนแบบเดิมที่เด็กเป็นผู้รับและครูเป็นผู้บรรยาย สู่กระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดการศึกษาที่เด็กมีส่วนร่วมเป็น Active Learner และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง จากการติดตามผลเราพบว่าเด็กๆ ที่ผ่านการเรียนรู้แบบนี้สามารถพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีนัยสำคัญ ในระยะเวลาสั้นๆ เราจึงเชื่อว่านี่จะเป็นส่วนหนึ่งของทางออกของการศึกษาแห่งอนาคต” นางสาวศศิธร กล่าว

   ด้าน นางสาวบุญลาภ ภูสุวรรณ บรรณาธิการและผู้ก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ ไทยพับลิก้า กล่าวว่า ในเวลาที่ผ่านมาในประเทศไทยมีการพูดถึงการปฏิรูปการศึกษาเสมอ แต่คำถามก็คือทำไมไทยถึงไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาได้สำเร็จ ในฐานะสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่และติดตามเรื่องนี้ เราพบว่ามีปัญหาและอุปสรรคจำนวนมากที่จะโทษภาครัฐอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะในที่สุดทางออกของการจัดการศึกษาต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งในงานสัมมนานี้ก็สะท้อนถึงความร่วมมือนั้น โดยการสัมมนาไม่เพียงจะตั้งคำถามและทำให้เห็นภาพปัญหาการศึกษาในระดับมหภาค ทั้งปัญหาในเชิงโครงสร้าง และความจริงที่สร้างปัญหาการศึกษาแบบที่เราไม่ค่อยพูดถึง เช่น การประเมินและกิจกรรมอื่นๆ ที่เอาเวลาของครูไปจากเด็ก ปัญหาครูบางส่วนที่ขาดคุณภาพ ระบบการประเมินครูที่ไม่เชื่อมโยงกับเด็ก ฯลฯ ยังมีคำตอบถึงทางออกผ่านการเปลี่ยนแปลงจากห้องเรียน ซึ่งเป็นทางออกในการปฏิรูปที่ทำได้ทันที

เกี่ยวกับโครงการ Samsung Smart Learning Center
   โครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต เป็นโครงการเพื่อสังคมของ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ที่ริเริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 โดยมีเป้าหมายใน การพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กไทยทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด ห้องเรียนแห่งอนาคต โดยความสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ล่าสุด ซัมซุง ได้รับรางวัลเกียรติยศด้านพัฒนาการศึกษา จากการพัฒนาโครงการ Samsung Smart Learning Center  ในงาน Educa2014 :งานมหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งจัดขึ้นโดยภาคีเครือข่าย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาชั้นนำ สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการได้ที่ www.samsungslc.org และ www.facebook.com/samsungslc