ADS


Breaking News

5 หน่วยงานภาครัฐ-เอกชนลงนามความร่วมมือ (MOU) เนื่องในโอกาสการจัดงาน International Open Data Day ครั้งแรกในไทย ร่วมสนับสนุนนโยบายเปิดเผยข้อมูล Open Data จากทุกภาคส่วน สู่การผลักดันเศรษฐกิจดิจิตอลภายในประเทศ

เมื่อวันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงาน “International Open Data Day” หรือวันเปิดเผยข้อมูลสาธารณะสากล ซึ่งได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ ห้อง ออดิทอเรี่ยม ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม  โดยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน นำโดย สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน), ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ (NECTEC), มหาวิทยาลัยเอเชียน, มูลนิธิเพื่อคนไทย, เครื่อข่ายผลเมืองเน็ต, Ma:D Hub for Social Enterprise, Blognone, Good Factory และ Change Fusion ที่พร้อมใจผนึกกำลังร่วมจัดงานในครั้งนี้ให้เกิดขึ้น โดยมีเหล่าผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายองค์กร ทั้งหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน และภาคประชาคมรวมทั้งเหล่านักพัฒนาเข้าร่วมงานนี้อย่างคับคั่ง
 ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นางเมธินี เทพมนตรี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ICT) เป็นประธานในพิธีพร้อมกับกล่าวถึงใจความสำคัญในการจัดงานในครั้งนี้ว่า “สำหรับการผลักดันให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ Open Data ของภาครัฐ จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้นั้นจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนในทุกๆ มิติร่วมทำงานด้วยกัน เพื่อที่จะคอยกระตุ้นและขับเคลื่อนแนวทางและข้อเสนอแนะต่างๆ ในการทำงานเพื่อการพัฒนาประเทศไปด้วยกัน ทุกฝ่ายจำเป็นต้องนำข้อมูล และไอเดียที่สร้างสรรค์มาแชร์กัน เพื่อที่จะได้นำเอาข้อมูลอันเป็นประโยชน์เหล่านี้มาใช้ในการพัฒนาประเทศในทุกๆ มิติต่อไป”
พร้อมกันนี้ยังได้มีการจัดปาฐกถาหัวข้อ “Open Data เพื่อการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล” โดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศส ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานรัฐบาลอิเลคทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ที่ได้กล่าวถึงใจความสำคัญเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ Open Data ของภาครัฐว่า  “Open Data มีความสำคัญหลักๆ ทั้งหมด 4 ด้าน ดังนี้คือ 1.ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลของภาครัฐได้  2.ตรวจสอบการคอรัปชั่นได้  3.สร้างประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจให้ดีขึ้น 4.ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ข้อมูล Open Data นั้นไม่ได้มีแต่ประโยชน์แต่กับในทางภาครัฐเพียงอย่างเดียว ในภาคเอกชนเองก็สามารถนำเอา Data Source ต่างๆ ที่มีการ Sharing นำไป วิเคราะห์ข้อมูลที่กระจายตัวบนโลกของ Digital Economy อันเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานบน IT เช่นธุรกิจ E-commerce, Social Media ข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาเชื่อมโยงเพื่อต่อยอดทางเศรษฐกิจได้ และ สำหรับทางภาครัฐข้อมูล Open Data เหล่านี้จะมีประโยชน์อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อ 1.ข้อมูล Open Data ได้ถูกเปิดเผยโดยพร้อมเพรียงเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้  2.เป็นข้อมูลขั้นพื้นฐานที่ไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์มาก่อน 3.ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยจะใช้งานได้ฟรี และจะต้องมีกฎหมายในการคุ้มครองการวิเคราะห์ข้อมูล 4.ต้องมีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนตรวจสอบได้เพื่อให้การเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปอย่างโปร่งใส
และในส่วนของการปาฐกถาในหัวข้อ “Open Data การพัฒนาบริการภาครัฐ และการมีส่วนร่วมของสังคม” โดย ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเลคทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ได้กล่าวถึงประโยชน์จากการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ Open Data ของทางหน่วยงานภาครัฐที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาบริการภาครัฐ และการมีส่วนร่วมของสังคมว่า “การนำเอาข้อมูล Open Data สามารถนำมาใช้ในมุมมองของการต่อยอด Digital Economy เพื่อให้เกิด New Business Model ใหม่ๆ ในบริบทที่เป็นประโยชน์เชิงสร้างสรรค์ ซึ่งในประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเข้าสู่ Digital Economy ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับทุกภาคส่วนสังคมที่จะมาร่วมมือขับเคลื่อนศักยภาพดังกล่าวให้ต่อยอดไปยังเป้าหมายที่วางไว้ โดยทาง EGA เองพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันไปยังผลสำเร็จ”
จากนั้นทั้ง 5 หน่วยงาน นำโดย สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน), NECTEC (ภาครัฐ),บริษัทไมโครซอฟท์ (ภาคเอกชน), Asean University (ภาคการศึกษา) และ Change Fusion (ภาคประชาสังคมและนักพัฒนา)  ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ MOU การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในการร่วมกันผลักดันนโยบายการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ Open Data เพื่อเดินหน้าการสร้างความรู้ความเข้าใจในการวางแผนการทำงาน และการพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการนำข้อมูล Open Data ของแต่ละภาคส่วน เพื่อการนำข้อมูล Open Data ไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานอันเกิดประโยชน์ต่อภาครัฐ หน่วยงานเอกชน รวมทั้งประชาชน ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศในมิติต่างๆ
พร้อมกันนี้ยังได้จัดให้มีการเสวนา “Open Data Fire Talk”  ใน 11 หัวข้อสำคัญของการนำเอา Open Data มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในบริบทต่างๆ โดยเหล่าผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายองค์กร ดังนี้
1.การบรรยายในหัวข้อ “การขับเคลื่อนโลกยุคใหม่ด้วยพลังแห่งข้อมูล” โดย คุณชาคริต จันทร์รุ่งสกุล CEO จากบริษัท FireOneOne
2.การบรรยายในหัวข้อ “Thailand Open Government Data Partnership Initiative (TOGDPI) โดย คุณนันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม และคุณชรินทร์ ธีรฐิตยางกรู ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
3.การบรรยายในหัวข้อ “การจัดการข้อมูล Government Open Data โดยใช้มาตรฐาน RDF” โดย ดร.มารุช บูรณรัช นักวิจัยจาก NECTEC
4.การบรรยายในหัวข้อ “Standards-Lunch Pad for Data Exchange Rockets” โดย คุณปิตินันท์ คูอมรพัฒนะ และ ดร.อรัชฎา เกตุพรหม จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
5.การบรรยายในหัวข้อ “ประสบการณ์ในการทำงาน Open Data ในหน่วยงานภาครัฐ” โดย ดร.ชุติพร อนุตริยะ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์จากมหาวิทยาลัยเอเชียน
6.การบรรยายในหัวข้อ “พีบีวอทซ์ : ระบบสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้เท่าทันภัยพิบัติเชิงรุก” โดย ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ประธานโครงการพีบีวอทซ์ เครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานี
7.การบรรยายในหัวข้อ “Microsoft กับการสนับสนุน Open Data” โดย คุณโอม ศิวะดิตถ์ จาก National Technology Officer-Public Sector จากบริษัทไมโครซอฟต์
8.การบรรยายในหัวข้อ “Data Analytics in the Social Network Era” โดย คุณนารีรัตน์ แซ่เตียว นักพัฒนาผู้คว้ารางวัลระดับประเทศและนานาชาติหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแห่ง DOM (ดอม)
9.การบรรยายในหัวข้อ “Big Data เพื่อเมืองเดินได้ เมืองเดินดี” โดย ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบพัฒนาเมือง (UDCC)
10.การบรรยายในหัวข้อ “การเปิดเผยข้อมูล เพื่อสร้างความโปร่งใสในภาครัฐ” โดย คุณจิรวัฒน์ ลิ้มแก้วประเสิรฐ ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)
11. การบรรยายในหัวข้อ “วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล” โดย คุณสฤณี อาชวานันทกุล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าว Thai Publica
โดยเนื้อหาสำคัญของการบรรยายจะเชื่อมโยงลำดับความสำคัญของข้อมูล Open Data ในส่วนต่างๆ ตั้งแต่วิธีการเก็บข้อมูล หลักการในการพิจารณาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ การเตรียมความพร้อมและศักยภาพในการวิเคราะห์และจัดเก็บข้อมูล พร้อมด้วยตัวอย่างผลงานจากการนำเอาแนวทางการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ Open Data ทั้งในส่วนของทางภาครัฐ Government Open Data และภาคเอกชน นำมาเรียบเรียงและจัดเก็บในรูปแบบและแนวทางที่สอดคล้องกันเพื่อสร้างเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data เพื่อให้ทุกฝ่ายได้สามารถดึงเอาข้อมูลดังกล่าว นำไปใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบความโปรงใสในการทำงานของทางภาครัฐ ซึ่งประชาชนสามารถที่จะตรวจสอบข้อมูล หรือเสนอแนะปัญหาและวิพากวิจารณ์การทำงานของภาครัฐได้อย่างอิสระ รวมทั้งในภาคเอกชนและประชาชนที่จะสามารถนำเอาข้อมูล Open Data มาคิดวิเคราะห์ พัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อผลักดันระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศต่อไป
และในช่วงสุดท้ายของกิจกรรมเนื่องในวัน International Open Data Day ในครั้งนี้ ได้จัดให้มีการทำกิจกรรมเวิร์คช็อปในหัวข้อเรื่อง “Info Graphic Workshop”  โดยมี คุณธนบูรณ์ สมบูรณ์ จาก Creative Move เป็นผู้บรรยายให้กับนักพัฒนาและกลุ่มประชาชนผู้ที่สนใจ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิด หลักการ พร้อมกับวิธีการในการนำข้อมูลอันเป็นประโยชน์จากการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ Open Data นำมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบ Info Graphic ให้กับงาน CSR ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลเพิ่มเติม  http://opendataday.in.th/

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/eGovernmentAgency/media_set?set=a.862328760472142.1073742002.100000850770441&type=1

ความรู้เพิ่มเติม Open Data Handbook ภาษาไทย ดาวน์โหลด PDF และ English Version สามารถเข้าไปอ่านผ่านเว็บได้

ที่ http://opendatahandbook.org/  หรือ Download เพื่ออ่าน Off-line