ADS


Breaking News

อว. เผยคนกรุงเทพฯ การ์ดตกมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 เพิ่งมาเริ่มดีขึ้นหลังเกิดคลัสเตอร์ตลาดบางแค แต่ยังต้องเร่งสวมหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นอีก

"ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทย สะสมรวมแล้วจะทะลุ 30,000 ราย"
     (8 เมษายน 2564) ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่าจากการที่ อว. ติดตามประเมินการใส่หน้ากากอนามัยโดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมานั้น ข้อมูลบ่งชัดเจนว่า คนกรุงเทพฯ ได้การ์ดตกมาเรื่อยๆ ในช่วง 3 เดือนนี้ โดยในวันที่ 22 มกราคม 2564 ที่เริ่มใช้ระบบเอไอนั้น มีผู้ที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัยหรือใส่ไม่ถูกต้องเพียง 3.42% แต่เมื่อติดตามต่อเนื่องทุกวันพบอัตราการไม่ใส่หรือใส่หน้ากากไม่ถูกต้องเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ จนสูงถึง 8.38% (เพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีการประกาศการระบาดจากคลัสเตอร์ตลาดบางแค 

     หลังจากที่พบการระบาดจากคลัสเตอร์ตลาดบางแคและต่อมาจากคลัสเตอร์สถานบันเทิง ประชาชนได้กลับมาใส่หน้ากากอนามัยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการไม่ใส่หรือใส่หน้ากากไม่ถูกต้องต่ำลงเป็น 3.59%
     "ในวันนี้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมรวมกันคั้งแต่เริ่มต้น จะทะลุระดับ 30,000 ราย ซึ่งภาพโดยรวมแล้ว พฤติกรรมของประชาชนในช่วง 2 สัปดาห์ล่าสุดนั้นมีแนวโน้มดีขึ้น แต่จากการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเหตุการณ์สถานบันเทิงและมีโอกาสจะกระจายในวงกว้างนั้น จึงอยากเน้นย้ำให้ระมัดระวังมากขึ้นอีก ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ และหลีกเลี่ยงการอยู่รวมกันมากๆ" ศ.นพ.ดร.สิริฤกษ์ กล่าวย้ำ

     "หลังจากที่ได้ใช้เทคโนโลยีเอไอประเมินมาได้ 3 เดือนตั้งแต่เดือนมกราคม เราพบว่าการใส่หน้ากากอนามัยลดลงชัดเจน ขณะนี้พบการติดเชื้อจำนวนมากในหลายๆที่ ทั้งในตลาดและสถานบันเทิง อย่างไรก็ตาม ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาประชาชนได้ระมัดระวังมากขึ้น ให้ความร่วมมือมากขึ้น” ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง หัวหน้าทีมพัฒนาเอไอมาสค์กล่าวสมทบ

     แหล่งข้อมูล: โครงการระบบปัญญาประดิษฐ์ (ระบบเอไอ AiMASK) ในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัย พัฒนา โดยคณะผู้วิจัยสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดยศาสตราจารย์ ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคง ราชบัณฑิต สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และโครงการซูเปอร์เอไอเอ็นจิเนียร์ 

     สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม