ADS


Breaking News

มังคุดแปลงใหญ่ ตำบลลำเลียง

     มังคุดเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญ อีกชนิดหนึ่งของตำบลลำเลียง มีพื้นที่ปลูก 1,178 ไร่ เกษตรกรจำนวน 520 ครัวเรือน ผลผลิตเฉลี่ย 700 ตันต่อปี แต่จากปัญหาผลผลิตไม่ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ เกรดส่งออกมีน้อย ทำให้เกษตรกรรายได้ตกต่ำ ในปัจจุบันมีการแก้ปัญหาอย่างไรมาติดตามกัน
     นายสุริยา ศิริวงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมังคุดหวานเพื่อการส่งออกลำเลียง ผู้จัดการแปลงใหญ่สวนมังคุดตำบลลำเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง เล่าว่า ทางกลุ่มมีสมาชิกมังคุดแปลงใหญ่ 53 ราย และ สมาชิกวิสาหกิจชุมชน 104 ราย มีการต่อตั้งกลุ่มตั้งแต่ปี 2546 และจดทะเบียน วิสาหกิจชุมชนในปี 2550 ร่วมกันผลิต จำหน่าย และคัดเกรดมังคุดให้กับพ่อค้ามาประมูลนำไปขาย แบ่งสัดส่วนขายในประเทศและต่างประเทศ ร้อยละ 50:50
     สำหรับปัญหาของชาวสวนมังคุดปัจจุบันคือราคาตก ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ ไม่ได้ไซส์ขนาดที่พ่อค้ารับซื้อต้องการ การแก้ปัญหาของกลุ่มมี 3แนวทางคือ

     1.การควบคุมคุณภาพการผลิตให้ตรงความต้องการตลาด เพราะผลไม้มังคุดปัญหาใหญ่คือเนื้อแก้วยางไหล การแก้มีการจัดวางระบบน้ำให้เหมาะสมฤดูแล้ง และลดต้นทุนด้วยการใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักทะลายปาล์ม มูลสัตว์ สามารถลดต้นทุนให้เกษตรกร 2,000 บาท/ไร่/ปี
     นอกจากนี้ยังมีกลวิธีให้มังคุด ให้ติดดอก ออกผล เพิ่มผลผลิตอีกด้วย ด้วยวิธีแกล้งมังคุด กล่าวคือมังคุดจะไม่เหมือนผลไม้อื่นๆที่ต้องใส่ปุ๋ยให้น้ำมากเพียงพอถึงออกลูกออกผล แต่มังคุดนั่นถ้าได้รับน้ำและปุ๋ยเต็มที่จะมีแต่ใบ ดังนั่นจะต้องมีการแกล้งมังคุดให้เครียด เจอแล้งร้อน 20-30วันแล้วค่อยให้น้ำ มันจะติดดอกออกผลทันที

     เมื่อได้ผลผลิตออกมาก่อนเข้าสู่ตลาด จะมีการรวมกลุ่มกันช่วยกันคัดเกรดคุณภาพ แยกไซส์ตามที่ตลาดต้องการ มังคุดเบอร์1ผิวมัน หมวกขียวไซส์ใหญ่ 80 กรัม/ผล ไซส์เบอร์2 น้ำหนัก70 กรัมต่อผล เบอร์3มังคุดผิวลาย ลูกเล็กเบอร์ 4 และลูกดำเบอร์5

     2.การแก้ปัญหาอีกประการคือ การวางแผนให้ผลิตผลมังคุดออกสู่ตลาดไม่ให้ออกตรงกับภาคตะวันออก และ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยจะออกสู่ตลาดช่วงระหว่างกลางของแหล่งผลิตทั้งสองที่ ส่งผลให้กลุ่มชาวสวนมังคุดตำบลลำเลียงได้ราคาดี อาทิในปี 2561 มีราคากิโลกรัม 100 กว่าบาท

     การรวมกลุ่มยังส่งผลดี ชาวสวนได้พบปะพ่อค้าตรง สามารถทำราคาได้สูงกว่าท้องตลาด ซึ่งตลาดส่งออกหลักจะเป็นประเทศจีน เวียดนาม โดยช่วงที่ตลาดต่างประเทศต้องการมากๆจะมีการส่งขายต่างประเทศได้สูงถึงปีละ500ตัน และข้อดีของการรวมกลุ่มการเข้าถึงหน่วยงานภาครัฐทำได้ง่ายขึ้น

     3.การแก้ปัญหาราคาตกอีกแนวทางหนึ่งคือ การแปรรูปมังคุด จากมังคุดที่มีขนาดตกไซต์ ลูกเล็ก ลูกลาย มังคุดลูกดำด้วยการนำมาแปรรูปเป็นมังคุดกวนและน้ำมังคุด สมาชิกกลุ่มจะนำมังคุดมาแกะเนื้อแช่แข็ง แล้วเอาเนื้อมาเพิ่มมูลค่ากวน 1 กล่องขนาด 200 กรัมมีมูลค่าขายมังคุดผล กิโลกรัมละ 50 บาท และการแปรรูปเป็นน้ำมังคุด เท่ากับขายมังคุดผลกิโลละ100บาท โดยกลุ่มจะมีรายได้จากการขายมังคุดแปรรูปเดือนละ 20,000 บาท ซี่งเป็นเงินสวัสดิการสมาชิกในกลุ่ม
     นับว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนมังคุดหวานเพื่อการส่งออกลำเลียง ถือเป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาราคาผลผลิตมังคุดตกต่ำได้อย่างดี เกษตรกรชาวสวนมังคุดทั่วประเทศใครมีปัญหาเข้าปรึกษากับสำนักงานเกษตรอำเภอหรือ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)ในพื้นที่ทุกแห่ง

https://www.youtube.com/watch?v=iMi1E7Lng3s&feature=youtu.be

https://www.youtube.com/watch?v=WjscglJjFjo&t=7s

https://www.youtube.com/watch?v=FpIPa5-Cbng

ข้อมูล : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมสงเสริมการเกษตร