ADS


Breaking News

ตักบาตรดอกเข้าพรรษา ประเพณีทรงคุณค่า พุทธบูชาสืบสานวัฒนธรรม มหัศจรรย์เมืองไทยแห่งเดียวในโลก


เทศบาลเมืองพระพุทธบาท ร่วมกับ จังหวัดสระบุรี สานต่อมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นจัดงานประเพณี ตักบาตรดอกเข้าพรรษา และถวายเทียนพระราชทาน ประจำปี 2560” ย้อนตำนานสระบุรี สืบสานประเพณีหนึ่งเดียวในโลก ระหว่างวันที่ 7 - 9 กรกฎาคม 2560 ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี
ายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า งานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา และถวายเทียนพระราชทาน ซึ่งในปีนี้มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 กรกฎาคม 2560 ณ  บริเวณถนนสายคู่ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี โดยถือเป็นมรดกประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความสำคัญของชาวจังหวัดสระบุรีและประเทศไทย ที่อยู่คู่กับวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในโลก โดยเมื่อถึงวันเข้าพรรษา คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปีชาวอำเภอพระพุทธบาทจะนำดอกไม้ชนิดหนึ่งใช้ตักบาตร กระทั่งเกิดเป็นประเพณีท้องถิ่น ดอกไม้ที่นำมาใช้ตักบาตรในประเพณีนี้ จึงเรียกกันว่า “ดอกเข้าพรรษา” หรือ “ดอกหงส์เหิน” เพราะลักษณะของดอกและเกสรประดุจดังตัวหงส์ ที่กำลังเหินบินด้วยท่วงท่าลีลาอันสง่างาม
ดอกเข้าพรรษา หรือ ดอกหงส์เหิน เป็นพืชที่จัดอยู่ในตระกูลขิง เป็นไม้ดอกเมืองร้อนในป่าร้อนชื้น และเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นเป็นหัวประเภทเหง้าแบบมีรากสะสมอาหาร คล้ายกระชาย กาบใบเรียงตัวกันแน่น สูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหอก ออกเรียงสลับซ้ายขวาเป็นสองแถว ส่วนดอกมีลักษณะอ่อนช้อยสวยงามยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีสีเหลืองสดใสคล้ายรูปหงส์กำลังเหินบิน และสีของกลีบประดับมีหลายสี เช่น สีเหลืองหมายถึง สีแห่งพระสงฆ์ สีขาวหมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา และสีม่วงเป็นสีที่หายากที่สุด และชาวอำเภอพระพุทธบาทเชื่อว่าการใส่บาตรด้วยดอกสีม่วงจะได้บุญกุศลมากที่สุด ซึ่งหนึ่งปีจะออกดอกเพียงครั้งเดียว เฉพาะช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาเท่านั้น
ด้านนายชนัตถ์ นันทปัญญา รองนายกเทศมนตรีเมืองพระพุทธบาท กล่าวว่า การจัดงานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษาและถวายเทียนพระราชทาน จังหวัดสระบุรีนั้น ก่อนวันพิธีเปิดของการจัดงาน จะเป็นพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในอาณาบริเวณพระพุทธบาท รวมถึงพิธีถวายเทียนพระราชทาน ซึ่งพิธีเปิดในปีนี้จะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม 2560 เวลา 14.30 น. ขบวนพยุหยาตรา ขบวนเจ้าเมืองสระบุรี ขบวนเทียนพรรษาพระราชทาน ขบวนรถบุปผชาติ การแสดงศิลปะพื้นบ้าน วัฒนธรรม และขบวนต่าง ๆ จะเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองพระพุทธบาท ไปตามถนนพหลโยธิน และเลี้ยวเข้าบริเวณวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร โดยดอกไม้ที่ใช้ตักบาตรแด่พระภิกษุสงฆ์นั้นจะต้องเป็น ดอกเข้าพรรษาเท่านั้น และที่พิเศษในปีนี้ คือ ทางเทศบาลเมืองพระพุทธบาทได้จัดทำพระผงดอกเข้าพรรษา หลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดสระบุรี โดยเป็นการนำมวลสารดอกเข้าพรรษาที่ผู้ศรัทธานำไปสักการบูชารอยพระพุทธบาทเมื่อปีที่ผ่านมา และนำไปเข้าพิธีปลุกเสก เพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาเช่านำกลับไปบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล และจะจัดทำต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ผู้คนได้กลับมาสักการะในปีต่อๆ ไป
     ด้าน นายชัชวาลย์ แสงประพาฬ ปลัดเทศบาลเมืองพระพุทธบาท กล่าวว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของท้องถิ่น และจังหวัดสระบุรี ในการจัดงานครั้งนี้ชาวสระบุรีและภาคธุรกิจทุกแขนง  ตื่นตัว และเตรียมตัวต้อนรับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ และเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนด้วยกันให้มากขึ้น ซึ่งทางเราก็ได้เตรียมการให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วยการมีจุด Tourism Information พร้อมสำหรับการให้ข้อมูลและช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของประเทศไทย และวัฒนธรรมอันล่ำค่าของท้องถิ่น ทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสระบุรีอีกทางหนึ่งด้วย


ประวัติดอกเข้าพรรษา

     วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เป็นวันเข้าพรรษา ชาวอำเภอพระพุทธบาท จะนำดอกไม้ชนิดหนึ่งใช้ตักบาตร กระทั่งเกิดเป็นประเพณีท้องถิ่น ดอกไม้ที่นำมาใช้ตักบาตรในประเพณีนี้ จึงเรียกขานกันว่า "ดอกเข้าพรรษา" หรือ "ดอกหงส์เหิน" เพราะลักษณะของดอกและเกสรประดุจดังตัวหงส์ ที่กำลังเหินบินด้วยท่วงท่าลีลาอันสง่างามนั่นเอง

    หงส์เหิน (Globba winiti) เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์ขิง เป็นไม้ดอกเมืองร้อนเกิดในป่าร้อนชื้น พบในประเทศไทย, พม่า และเวียดนาม ภายใต้ร่มเงาไม้ใหญ่หรือตามชายป่า มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น กล้วยจ๊ะก่า (ตาก), กล้วยจ๊ะก่าหลวง (ลำพูน), กล้วยเครือคำ (เชียงใหม่), ก้ามปู (พิษณุโลก), ขมิ้นผีหรือกระทือลิง (ภาคกลาง), ว่านดอกเหลือง (เลย), ดอกเข้าพรรษา (สระบุรี) เป็นต้น
   
"ต้นหงส์เหิน" หรือ "ต้นเข้าพรรษา" เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นเป็นหัวประเภทเหง้าแบบมีรากสะสมอาหาร คล้ายรากกระชาย ส่วนของลำต้นเหนือดิน คือ กาบใบที่เรียงตัวกันแน่น ทำหน้าที่เป็นต้นเทียมเหนือดิน เกิดเป็นกลุ่มกอ สูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหอก ออกเรียงสลับซ้ายขวาเป็นสองแถว ส่วนดอกออกเป็นช่อซึ่งแทงออกมาจากยอดของลำต้นเทียม ช่อดอกมีลักษณะอ่อนช้อยสวยงาม ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีก้านดอกย่อยเรียงอยู่โดยรอบ ประกอบด้วยดอกจริง 1-3 ดอก มีสีเหลืองสดใสคล้ายรูปตัวหงส์กำลังเหินบิน มีกลีบประดับขนาดใหญ่ตามช่อโดยรอบจากโคนถึงปลาย

เชื่อว่า “ดอกเข้าพรรษา” เมื่อนำมาตักบาตรจะได้บุญกุศลแรง และสีของกลีบประดับมีหลายสี เช่น สีเหลือง สีขาว และ สีม่วง ซึ่งแต่ละสีมีความเชื่อ ดังต่อไปนี้ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา  สีเหลือง หมายถึง สีแห่งพระสงฆ์  สีม่วง เป็นสีที่หายากที่สุด และชาวอำเภอพระพุทธบาทเชื่อว่าการใส่บาตรด้วยดอกสีม่วงจะได้บุญกุศลมากที่สุด

ซึ่งเมื่อพระสงฆ์ได้รับบิณฑบาตแล้วก็จะนำไปสักการะรอยพระพุทธบาท อันจะส่งผลบุญให้ผู้ทำบุญตักบาตรได้ขึ้นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

     ดอกเข้าพรรษาหรือดอกหงส์เหิน หนึ่งปีจะออกดอกเพียงครั้งเดียว เฉพาะในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาเท่านั้น ในท้องที่อำเภอพระพุทธบาท พบว่ามี 2 สกุล ได้แก่ สกุลกระเจียว มีดอกสีขาวหรือขาวอมชมพู และสกุลหงส์เหิน ดังกล่าวไว้ข้างต้น เมื่อถึงวันเข้าพรรษา คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ชาวอำเภอพระพุทธบาทจะพากันไปเก็บดอกเข้าพรรษาตามไหล่เขาโพธิลังกาหรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุในเขตอำเภอพระพุทธบาท นำมาจัดรวมกับธูปเทียนเพื่อตักบาตรถวายพระ ซึ่งที่จังหวัดสระบุรีได้จัดพิธีตักบาตรดอกเข้าพรรษาและถวายเทียนพระราชทาน ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และเป็นสถานที่ประดิษฐาน
"รอยพระพุทธบาท" อันศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพบูชา ซึ่งมีความเชื่อในคติชาวลังกาว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ 5 แห่ง และรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทฯ แห่งนี้ เป็น 1 ใน 5 แห่ง ต่อมารอยพระพุทธบาทนี้ถูกค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม